|
|
|
|
นิทานธรรมกับ ดร.เอ๋ย ตอน 3
ถุงมันฝรั่ง
...ว่าด้วยการให้อภัย
|
ครูคนหนึ่ง...
...สั่งให้นักเรียนทุกคนนำถุงพลาสติกใส และมันฝรั่งมาที่โรงเรียน และให้แต่ละคนเขียนชื่อของคนที่เคยทำให้นักเรียนโกรธ และ ไม่ยอมให้อภัยบนหัวมันฝรั่งหัวละชื่อแล้ว ใส่มันฝรั่งที่มีชื่อลงไปในถุงพลาสติกใบนั้น
ถุงพลาสติกของบางคนหนักอึ้ง !
แล้วครูก็ให้ทุกคนหิ้วถุงนี้ไปทุก ๆ แห่งเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ไม่ว่าจะกินจะนอน ก็ต้องเอาถุงวางไว้ใกล้ตัวเสมอ
เวลาผ่านไปไม่กี่วัน การแบกถุงมันฝรั่งก็เริ่มเป็นภาระหนักสำหรับนักเรียน บางครั้งพวกเขาต้องเฝ้าคอยเอาใจใส่เพื่อที่จะไม่ลืมทิ้งมันไว้ตามที่ต่างๆ ในที่สุด มันฝรั่งก็เน่าและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น
ถ้าถุงมันฝรั่งนี้เป็นความหนักในการที่เราคอยเก็บรักษาความโกรธแค้นเอาไว้ ลองคิดดูว่าเราต้องสูญเสียอะไรเพื่อรักษาความเจ็บปวดนี้ไว้ในหัวใจ
เราอาจจะคิดว่า เราเป็นผู้ให้เมื่อเราอภัยให้ผู้อื่น แต่จริงๆแล้ว มันเป็นของขวัญสำหรับตัวเราเองต่างหาก
***************************************************************************************
การให้อภัย ไม่ได้หมายถึงการบอกว่า “ที่เธอทำร้ายฉันน่ะ ไม่เป็นไรหรอก” แต่หมายถึงการที่เราปล่อยวางความเจ็บปวดเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
ถ้าคุณเก็บความโกรธไว้ แล้วคิดว่าชีวิตของคุณมีความสุข ก็เก็บไว้เถิด
แต่ความโกรธมีผลเหมือนมีลูกศรเสียดแทงจิตใจ นั่งก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ ทำให้บุญบารมี โชคลาภ วาสนา ที่เคยสั่งสมมาสูญหายไปในพริบตา เพราะขณะที่เราโกรธ ตัวเราจะขาดสติสูญเสียบุคลิกภาพ ขาดยางอาย ถ้อยคำก็ไม่มีคารวะ หากถึงขั้นรุนแรงก็มีการทำร้ายร่างกาย ยิ่งเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมขึ้นอีก
นอกจากนั้น ร่างกายจะปล่อยสารทำลายเนื้อเยื่อ และ ระบบภูมิคุ้มกันทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมได้ง่าย การโมโหจนเป็นนิสัยจะเป็นการเติมเชื้อโทสะที่มีอยู่ในจิตใจให้มีกำลังรุนแรง กิริยาจะก้าวร้าว ลูกหลานและคนรอบข้างก็จะติดนิสัยไปด้วย
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ เคยกล่าวคำกลอนน่าฟังถึงโทษของความโกรธว่า
ถึงยามโกรธโปรดส่องมองกระจก ดูจิตตก อกเต้น เมื่อเห็นหน้า
ซึ่งปั้นยาก ปากจมูก และลูกตา ดังยักษา ราศี ไม่มีเอย
ความโกรธเป็นตัวตัดรากความประพฤติดีทั้งหลายที่เราพยายามตั้งใจรักษา และทำร้ายทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมรอบข้าง แต่เรามักกลับไปพะเน้าพะนอความโกรธนั้นไว้เหมือนกำหนามในมือไม่ยอมปล่อย
การให้อภัยแม้แต่ให้กับคนเลวที่เราหาความดีไม่เจอ ก็ยังเป็นประโยชน์
หลวงพ่ออลงกต ตกฺขปญฺโญ แห่งวัดพระบาทน้ำพุ เคยกล่าวว่า
“หลวงพ่อถือว่า ถ้าคนเลวกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ โลกมันก็จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าทุกคนไม่ให้โอกาส มิหนำซ้ำยังไปทับถมเขาอีก ไอ้เลว ไอ้ชั่ว ถามว่าใครอยากจะกลับตัวเป็นคนดี”
แล้วเราจะให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร คำตอบก็คือ
ถ้าคุณไม่เคยกล่าวโทษใคร คุณก็ไม่จำเป็นต้องให้อภัยเขา
เหมือนเช่น แม่ชีเทเรซ่าเคยกล่าวไว้ว่า
“If you judge people, you have no time to love them”
“ถ้าคุณมัวแต่คอยพิพากษาคนอื่น คุณก็จะไม่มีเวลารักพวกเขา”
ความโกรธนั้นหากเก็บไว้นานด้วยความเจ้าคิดเจ้าแค้น อาจทำให้จิตวิปลาสไปได้
ดังเช่นเรื่องจริงของชาวไทยเชื้อสายจีนคนหนึ่ง ซึ่งถือศีลกินเจไหว้เจ้าเป็นประจำ จนอยู่มาวันหนึ่งไฟไหม้บ้านทั้งหลัง เหลือแต่ศาลเจ้าที่ชาวจีนนิยมวางไว้ที่พื้นบ้าน
ด้วยความโกรธ ชายผู้นี้จึงยกศาลเจ้าทุ่มลงพื้นแล้วพูดว่า
“ต่อไปนี้กูจะไม่ไหว้มึงอีกต่อไป เสือกเอาตัวรอดคนเดียว”
หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็เหมือนขาดที่พึ่ง
สุดท้ายคิดมากจนวิปลาส เพื่อนๆต้องพามาหาหลวงพ่อเทียน หลังจากนำข้อปฏิบัติของหลวงพ่อเทียนไปฝึก
คืนหนึ่งเขาฝันถึงศาลเจ้า ในฝันเขาได้สำนึกและยกมือไหว้ขอขมา
เทพในศาลออกมาพูดว่า
“อโหสิกรรมแล้ว เราไม่เคยโกรธเจ้าเลย อย่ากังวล จงหมั่นปฏิบัติต่อไปเถิด กรรมของเจ้าที่เป็นมาแต่อดีตก็หมดแล้ว ต่อไปชีวิตจะเจริญรุ่งเรือง”
หลังจากนั้นเขาก็หายจากโรคกรรม ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และ มีฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าของโรงงานทำที่นอนในไต้หวัน
นี่เป็นเรื่องของผลของความโกรธ และ ผลของการให้อภัยซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในสังคมที่พบเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุก ๆ วัน
การให้อภัยดีอย่างไร
การให้อภัยเมื่อเกิดกับผู้ใดแล้วจะทำให้จิตใจของผู้นั้นผ่องใสปราศจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ
ขอให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เวลาเราโกรธ เกลียด พยาบาทใคร สีหน้าของเราจะเปลี่ยนไป เลือดในร่างกายจะผิดระบบ รุ่มร้อนไม่พอใจ แต่พอยกโทษให้ ก็จะรู้สึกทันทีว่า ยิ้มได้ จิตเบาสบาย ที่เปรียบกันว่าเหมือนยกภูเขาออกจากอก รู้สึกจิตเป็นอิสระทันทีเพราะหมดห่วง หมดทุกข์ หมดสนิมที่จะกัดกร่อนจิตใจ
การให้อภัยจัดว่าเป็นการให้ทานลักษณะหนึ่ง การให้ทานนั้นหมายถึงการสละสิ่งของของตน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เป็นพื้นฐานความดีของมนุษย์ชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการจรรโลงสันติสุข การให้ทานมี ๓ ประเภทคือ
- อามิสทาน คือการบริจาคหรือเสียสละทรัพย์สินเงินทองข้าวของ กำลังกาย หรือเวลาเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยคุณธรรม คือเมตตา กรุณา
- ธรรมทานหรือวิทยาทานคือ การให้ความรู้เป็นทาน ถ้าเป็นความรู้ทางโลก เช่น ให้ศิลปวิทยาการต่างๆเรียกว่า วิทยาทาน หากเป็นความรู้ทางธรรม เช่น สอนให้ละชั่ว ประพฤติดี มีศีลธรรม ตั้งตนเองอยู่ในคุณความดีเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นเรียกว่า ธรรมทาน
- อภัยทาน คือการสละความโกรธเป็นทาน ให้อภัย ไม่จองเวร สละอารมณ์โกรธ พยาบาทให้ขาดออกจากใจ ปรารถนาให้สัตว์โลกพ้นจากความทุกข์ด้วยพรหมวิหารธรรม แม้จะถูกก้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน ก็อดกลั้นได้
มีบทกลอนบทหนึ่งเรื่อง “เต่าตกสวรรค์” ซึ่งแสดงโทษของการไม่อดกลั้นต่อสิ่งที่มายั่วยวนอ่านดูน่าสนุกดังนี้
พระเถระรูปหนึ่งถึงวิมุติ์ กิเลสหลุดล่วงพ้นไม่หม่นหมอง
รัศมีมากมายน่าหมายมอง ท่านนำร่องรุดหน้าทั้งฟ้าดิน
ไปสวรรค์ชั้นฟ้านำมากล่าว ถึงเรื่องราวสิวิไลซ์ในโกสินทร์
วิมานทองรองเรืองในเมืองอินทร์ เต่าได้ยินอยากแล่นไปแดนบน
ของับชายจีวรเพื่อจรขึ้น หวังครึกครื้นพื้นเพที่เวหน
พระเถระสั่งเต่าเจ้าต้องทน อย่ามืดมนโมหาโกรธาใคร
จงระงับยับยั้งระวังปาก อย่าพูดมากโมเมทำเฉไฉ
ใครว่ากล่าวเจ้าต้องอดสะกดใจ หุบปากไว้ให้ตนไม่หล่นตาย
เต่าก็รับงับผ้าพระพาเหาะ ตะลุยเลาะอัปสรเมื่อตอนสาย
เทพธิดาพากันทำสั่นกาย ว่าตัวร้ายเรือดเกาะหัวเราะกัน
เต่าได้ฟังดังนั้นก็พลันเดือด มาว่าเราเป็นเรือดเหมือนเชือดฉัน
เหมือนเจ็บกายหลายเท่าถูกเกาทัณฑ์ อ้าปากพลันพลางด่าให้ห่ากิน
พออ้าปากจากผ้าถลาล่อง หงายกระดองโดนโหดที่โขดหิน
รอยยังมีเรื่อยมาเป็นอาจิณ ไม่ลดลิ้นลงบ้างจึงปางตาย
จึงขอร้องเราท่านฐานมนุษย์ จงยั้งหยุดวาจาอย่าเหลือหลาย
ไม่ควรพูดก็อย่าพูดหยุดภิปราย อย่าหลังลายคล้ายเต่าดังกล่าวเอย
วิธีหนึ่งในการให้อภัยแก่ผู้ที่สร้างความขุ่นใจให้กับเรา ก็คืออย่าไปมองส่วนที่ไม่ดี พึงมองส่วนที่ดีของเขาเอาขึ้นมาระลึกนึกถึง
ถ้าเขาไม่มีความดีอะไรเลยที่จะให้มองเอาจริงๆ ก็ควรคิดสงสาร ตั้งความกรุณาแก่เขาว่า
โธ่ ! น่าสงสาร ต่อไปคนคนนี้คงจะต้องประสบผลร้ายต่างๆ เพราะความประพฤติไม่ดีอย่างนี้ นรกอาจรอเขาอยู่
พึงระลึกเสมอว่า
สิ่งใดที่เขาทำกับเรา มันคือเวรกรรมของเขา แต่การตอบโต้ของเรา มันคือเวรกรรมของเรา
หากเราไม่สามารถอภัยให้แก่กันจริงๆ ให้พิจารณาว่า พระพุทธเจ้าของเราทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ และ ทรงสอนชาวพุทธให้เป็นคนมีเมตตา
เรามัวมาโกรธอยู่ ไม่ระงับความโกรธเสีย เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ไม่ทำตามอย่างพระศาสดา
พระพุทธเจ้าเอง กว่าจะตรัสรู้ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายมาตลอดเวลายาวนานนักหนา เมื่อถูกข่มเหงกลั่นแกล้งเบียดเบียนด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ไม่ทรงแค้น ทรงเอาดีเข้าตอบ
ถึงเขาจะตั้งตัวเป็นศัตรูขนาดพยายามปลงพระชนม์ ในเมื่อเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประสบนั้นร้ายแรงเหลือเกิน พระองค์ยังทรงระงับความโกรธไว้ มีเมตตาอยู่ได้ แล้วเรื่องเล็กน้อยของเรา หากระงับไม่ได้ก็ไม่สมควรอ้างเอาพระองค์เป็นศาสดาของตน
ความจริงนั้น ทุกคนที่สนใจบริหารจิต จะต้องสนใจอบรมจิตให้รู้จักอภัยในความผิดทั้งปวง ไม่ว่าผู้ใดจะทำแก่ตน
การโกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน
โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น
ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน
______________________________________________________________
โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)
อ่านตอนอื่น
แสดงความคิดเห็นที่นี่
|