นิทานธรรมกับ ดร.เอ๋ย ตอน 4
วอชิงตัน โรบิง
...ว่าด้วยอิทธิบาท 4


ในปี ค.ศ. 1883 ...

 

จอห์น โรบิง...วิศวกรชื่อ จอห์น โรบิง คิดอยากจะสร้างสะพานเชื่อมนครนิวยอร์ค กับ ลองไอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสะพานทั่วโลกเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได ้ และ ให้โรบิงเลิกล้มความตั้งใจเสีย แต่โรบิงมีความมุงมั่นที่จะทำให้สำเร็จ

เขาได้ลูกชายชื่อวอชิงตันซึ่งเป็นวิศวกรเช่นกันมาร่วมงานด้วย การก่อสร้างดำเนินไปด้วยดี แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่ทำให้วอชิงตันบาดเจ็บที่สมองและกลายเป็นอัมพาต ไม่สามารถเดิน พูด หรือแม้แต่จะเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้คนต่างพูดว่า
“เราเตือนคุณแล้ว” “เขาเป็นคนบ้าที่มีความเพ้อฝันโง่ๆ”
“มันโง่ที่จะไล่ตามความฝันที่เป็นไปไม่ได้”
ทุกคนเห็นว่าโครงการนี้ควรถูกยกเลิก

 

แต่ขณะที่วอชิงตันนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล เขาได้เห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่านช่องหน้าต่าง ลมอ่อนพัดผ้าม่านบางๆโบกพลิ้ว เขามองเป็นท้องฟ้าและยอดไม้ มันเป็นสัญญาณให้เขาสู้ต่อไป

เขารู้ว่าเขายังขยับนิ้วได้หนึ่งนิ้วและเขาจะใช้มัน เขาเริ่มคิดรหัสที่จะติดต่อกับภรรยาด้วยนิ้วมือนี้ เขาแตะแขนของเธอและสื่อกับเธอว่าเขาต้องการให้วิศวกรทำอะไร และงานก็ดำเนินต่อ   

วอชิงตันใช้เวลา 13 ปี ในการสื่อข้อความด้วยการเคาะนิ้วบนแขนของภรรยา จนกระทั่งสะพานถูกสร้างโดยสำเร็จ

สะพานบรู๊คลิน

ทุกวันนี้สะพานบรุ๊คลินที่มีชื่อเสียงยืนหยัดเป็นอนุสรณ์ของชัยชนะของผู้ที่มีความมุ่งมั่นไม่ยอมสยบต่อความยากลำบาก

บ่อยครั้งที่เราประสบอุปสรรคในชีวิตประจำวัน แต่ปัญหาเหล่านั้นเล็กกว่าปัญหาของผู้อื่น

สะพานบรุ๊คลินแสดงให้เราเห็นว่าความฝันที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้นั้นสามารถไปถึงได้ด้วยความพยายามและความมุ่งมั่น ไม่ว่ามันจะมีโอกาสสำเร็จน้อยเพียงใดก็ตาม

เคยมีบ้างไหมที่คุณหยุดไล่ล่าความฝันหรือโครงการที่ดำเนินอยู่ หรือแม้แต่ลาออกจากงานหรือจากมหาวิทยาลัย เพราะปะทะกับอุปสรรค หรือมีผู้บอกว่า สิ่งที่คุณพยายามจะไปให้ถึงนั้นมันเป็นเรื่อง “เป็นไปไม่ได้” และ ปล่อยให้สิ่งนั้นรบกวนจิตใต้สำนึกของคุณตลอดไป

ผู้เขียนมีโอกาสวิเศษสุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้ติดตามพระนิสิตจากมหาจุฬาฯ รูปหนึ่งไปสัมภาษณ์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ปูชนียบุคคลมหัศจรรย์ในวัยเฉียดร้อยปี

คำพูดของท่านแต่ละประโยค เปรียบเสมือนแก้วแหวนให้ผู้เขียนได้เก็บสะสมเป็นแรงบันดาลใจที่มีค่ายิ่ง

ท่านผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้งคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแยกออกมาจากคณะอักษรศาสตร์ในขณะนั้น ซึ่งแน่นอนการเปลี่ยนแปลงระดับนี้ ย่อมหนีไม่พ้นแรงเสียดทานและอุปสรรคต่าง ๆ อย่างแน่นอน

พระผู้สัมภาษณ์ได้ถามท่านผู้หญิงว่า ท่านจัดการอย่างไรเมื่อประสบกับอุปสรรคต่างๆ

ท่านผู้หญิงให้คำตอบที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนว่า “ก่อนอื่น เราต้องแน่ใจว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี  ที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ เมื่อแน่ใจแล้ว เราต้องต่อสู้ไปให้ถึงความสำเร็จโดยไม่ท้อถอย”

โทมัส เอลวา เอดิสัน

ถ้าโทมัส เอลวา เอดิสัน เลิกล้มความมุ่งมั่นในการค้นพบไส้หลอดไฟฟ้าหลังจากล้มเหลวมาแล้วถึงสองพันครั้ง โลกของเราก็คงไม่สว่างไสวในตอนกลางคืนเช่นนี้

แม้ผู้ช่วยจะถอดใจเอ่ยปากว่า

“งานของเราไม่ได้ผลเลย เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการทดลอง”

แต่เอดิสันตอบด้วยความมั่นใจว่า

โอ้ เรามากันไกลมากแล้วหล่ะ ตอนนี้เรารู้จักวัสดุตั้งสองพันอย่างที่เอามาใช้เป็นไส้หลอดไม่ได้”

ถ้าคุณเป็นนักอ่าน คุณก็คงรู้จัก อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือชื่อ “เดินสู่อิสรภาพ”

อ.ประมวล เพ็งจันทร์

จากประสบการณ์ของท่านที่เดินด้วยเท้าโดยไม่พกเงินติดตัว ไม่ขอเงิน ไม่ขออาหารจากใคร ไม่ไปหาคนรู้จัก โดยเริ่มต้นจากเชียงใหม่จนถึงปลายทางที่เกาะสมุย ซึ่งใช้เวลานานถึง 66 วัน

หลายคนบอกว่าอาจารย์ “บ้า”

แต่มันคือความฝันที่อาจารย์ทำให้เป็นจริง เพื่อค้นหาสัจธรรมของชีวิต มันเป็นการเดินทางทั้งภายในและภายนอก ภายในคือการเดินทาง ข้ามพ้นความเสียดาย ความโกรธเกลียด และความกลัวที่อยู่ในใจของตัวเอง

สิ่งที่อาจารย์พบจากการเดินทางคือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น ของความเป็นมิตรไมตรี และ ความมีเมตตาของคนในสังคมที่ยังมีอยู่จริง

หรือคุณคงรู้จักหนุ่มเหล็กเทอร์รี่ ฟ๊อกซ์ ชาวแคนาดา ซึ่งพบว่าเป็นมะเร็งกระดูกเมื่อปี พ.ศ. 2520 เมื่อมีอายุเพียง 19 ปี ทำให้เขาต้องตัดขาขวาทิ้งตั้งแต่หัวเข่าลงไป เมื่อออกจากโรงพยาบาล

เทอรี่ ฟ๊อกซ์เขาตั้งใจหาทุนเพื่องานวิจัยทางด้านโรคมะเร็งด้วยการวิ่งข้ามประเทศโดยใช้ขาเทียม เขาฝึกซ้อมอย่างหนัก จนในที่สุดในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2523 เขาก็เริ่มทำตามความฝันเพื่อหาเงินให้ได้ 24 ล้านดอลล่าร์ หรือเฉลี่ยหนึ่งดอลล่าร์ต่อหนึ่งคน ตามจำนวนประชากรชาวแคนาดาในขณะนั้น

หลังจากผ่านไป 143 วัน หรือ 5,373 กิโลเมตร เทอร์รี่มีอาการเจ็บหน้าอกและหายใจไม่ออก เขาถูกส่งไปโรงพยาบาลทันทีและแพทย์แจ้งว่ามะเร็งได้ลามไปที่ปอดของเขา

ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลมีผู้ที่เขาเคยสร้างแรงบันดาลใจส่งจดหมายให้กำลังใจมากมาย รวมทั้งประธานโรงแรมโฟร์ซีซั่น ผู้รับรองกับเทอร์รี่ว่าจะจัดให้มีการวิ่งมาราธอนประจำปีเพื่อหาเงินสนับสนุนโครงการของเขาต่อไป และให้ชื่อว่า “เทอร์รี่ ฟ๊อกซ์ รัน”

เทอร์รี่เสียชีวิตวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2524 เขาหาเงินได้ 24.71 ล้านดอลล่าร์ มากกว่าที่คาดคิด และปัจจุบัน “เทอร์รี่ ฟีอกซ์ รัน” ก็ยังคงหาเงินให้กองทุนวิจัยโรคมะเร็งสืบต่อมาเป็นประจำทั่วประเทศ

 

บุคคลเหล่านี้ไล่ล่าตามความฝันของเขาที่ยากยิ่งได้อย่างไรได้ด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า “อิทธิบาท 4” ซึ่งประกอบด้วย:

ฉันทะ หรือมีใจรัก ถือว่าสำคัญมาก การฝืนทำอะไรที่ไม่ได้เกิดจากความพอใจ หรือศรัทธาของเราจริงๆมีแต่สร้างความทุกข์ทรมาน ความเครียด แม้จะได้บางสิ่งที่มุ่งหวังก็ตาม ตรงนี้เป็นจุดที่คำแนะนำของอาจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์มีค่า

คุณจะสร้างความรักสิ่งที่คุณทำได้ก็ต่อเมื่อคุณมีศรัทธาว่าสิ่งที่คุณทำเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตัวเองและต่อผู้อื่น หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องดีจริง ก็จงมุ่งมั่นที่จะทำด้วยความตั้งใจ และหากไม่ดีก็คงต้องเปลี่ยนแปลงศรัทธาเสียใหม่ เช่น หากเราคิดเบื่องานที่เราทำ เราลองเปลี่ยนมุมคิดของเราด้วยการสร้างศรัทธาใหม่ แทนที่คุณจะทำมันด้วยศรัทธาต่อลาภยศสรรเสริญ นั่นคือเพื่อเงินเดือน เพื่อคำชม เพื่อตำแหน่งของคุณเอง คุณลองเปลี่ยนศรัทธาเป็นการสร้างความสุข หรือแก้ความทุกข์ แก้ปัญหาให้แก่ผู้ที่คุณให้บริการ มันจะทำให้คุณมีพลังในการต่อสู้กับความเหน็ดเหนื่อย ต่อความเบื่อหน่ายได้อย่างดียิ่ง


วิริยะ คือความเพียรพยายาม เป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ

ความเพียรนี้มีปรากฏอยู่ในธรรมะหลายหมวด เช่น พละ 5 ธรรมอันเป็นกำลังให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นต่อภัยทุกอย่าง, โพชฌงค์ 7 ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้, บารมี 10 คุณธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด หรือทศพิธราชธรรม ธรรมของพระราชา

เราได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพเป็นอย่างยิ่ง

ในหลวง ฯ

พระองค์ไม่โปรดจะประทับอยู่เฉย แต่เสด็จออกเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ แม้ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล ไม่ว่าจะทรงลำบากพระวรกายเพียงใด และ ในวันหนึ่งๆทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้มากมายจนไม่น่าที่จะเป็นไปได้ หากเป็นบุคคลทั่วไปคงต้องใช้เวลาหลายวันทีเดียว

วิริยะ หรือ ความเพียรเกิดจากฉันทะ หรือ ความศรัทธาในสิ่งที่ทำ และ ต้องมาคู่กับความอดทนอดกลั้น ไม่ย่อท้อต่อปัญหา หรือ ความท้าทาย และมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย

เปรียบเหมือนเม็ดทรายเม็ดเล็ก ๆ ที่ซัดผ่านก้อนหินทุกวัน ก็ยังทำให้ก้อนหินนั้นกลมเกลี้ยงได้ แต่วิริยะไม่ใช่ความดุดันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือ ต้องให้ได้ดังใจเสมอ เพราะในบางเวลาบางสถานการณ์ เราอาจจะต้องปล่อยวาง หรือ วางเฉยเพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมกว่า เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นั้น และให้จดจำไว้เสมอว่า ถ้าคุณตกจาก “ความหวัง” (hope) คุณจะเจ็บน้อยกว่าตกจาก “ความคาดหวัง” (expectation)

จิตตะ คือใจที่จดจ่อต่อสิ่งที่เราคิดเราทำและรับผิดชอบด้วยความรอบคอบและรู้จริง ไม่ใช่สักแต่ทำไปแบบสุกเอาเผากิน ถ้าจะศึกษาอะไรก็มุ่งมั่นให้ได้ความรู้นั้นจนเป็นผู้ชำนาญ การจะมีใจจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรียกอีกอย่างว่าสมาธิ เมื่อใจเป็นสมาธิ ใจของคุณจะไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่จะฉุดคุณออกไปความตั้งใจ เช่นความเบื่อหน่าย หดหู่เซื่องซึมขี้เกียจ ฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กระวนกระวายกลุ้มกังวล ลังเลสงสัย โกรธแค้น คิดร้าย เป็นต้น


วิมังสา คือ การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้ว่าเกิดผลดีและผลเสียอย่างไร เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น แทนที่จะมุทะลุทำโดยไม่พิจารณาว่ามันเป็นเส้นทาง หรือ วิธีการที่ถูกต้องหรือดีที่สุดแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำเช่นนั้น อาจพาเราเข้ารกเข้าพงไปได้ ยิ่งที่วิริยะมาก ก็ยิ่งผิดทางไปไกล

พระพุทธเจ้า

สิ่งนี้พระพุทธเจ้าสอนมาหลายพันปีแล้ว ในขณะที่วิทยาการสมัยใหม่เพิ่งสอนให้มีการตรวจสอบ วัดผล เพื่อการปรับปรุงในกระบวนการควบคุมการผลิต และ การบริหารทุกกระบวนการ

 

ก่อนจะจบบทนี้ ผู้เขียนขอฝากนิทานไว้อีกเรื่องให้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ คือเรื่องกบสองตัว

กบสองตัวกบสองตัวตกลงไปในหลุมลึก กบตัวอื่นเห็นว่าโอกาสรอดคงยาก ก็ตะโกนลงไปว่าอย่าพยายามกระโดดขึ้นมาเลยไม่มีทางสำเร็จ
กบสองตัวไม่ฟัง ทั้งสองพยายามกระโดดให้สูงที่สุดเท่าที่มีเรี่ยวแรง กบตัวอื่นก็ได้แต่ตะโกนให้หยุดกระโดดเพราะเปล่าประโยชน์ ยังไง ๆ ก็ต้องตายแน่ ๆ ในที่สุดกบตัวหนึ่งหยุดกระโดด มันตกลงไปตาย


ส่วนกบอีกตัวยังกระโดดไม่เลิก กบตัวอื่นร้องบอกให้หยุดเถิด จะเหนื่อยเปล่า แต่มันยิ่งกระโดดสูงขึ้น ๆ และ ในที่สุดก็พ้นปากหลุมขึ้นมาได้ กบตัวอื่นมารุมล้อมถามว่า

“เธอไม่ได้ยินพวกเราบอกให้หยุดกระโดดหรือ ? ” แต่พบว่า...

...กบตัวนั้นหูหนวกสนิท มันคิดว่ากบตัวอื่นกำลังตะโกนเชียร์มันอยู่

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)

อ่านตอนอื่น

แสดงความคิดเห็นที่นี่