นิทานธรรมกับ ดร.เอ๋ย ตอน 5
ลิงเฝ้าสวน
...ว่าด้วยความฉลาดพร้อม


 

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติกรุงพาราณสี...

...มีนายอุทยานคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลพระราชอุทยาน

ครั้งหนึ่งในพระนครมีการเล่นนักขัตฤกษ์ นายอุทยานเห็นผู้คนไปเที่ยวงานกัน ก็นึกอยากไปเที่ยวบ้าง แต่ยังเป็นห่วงเรื่องรดน้ำต้นไม้ จึงฝากให้พวกลิงช่วยดูแลรดน้ำต้นไม้ให้

ลิงเฝ้าสวนพวกลิงก็รับปากและพากันถือกระออมจะไปรดน้ำต้นไม้

แต่จ่าฝูงพูดว่า

“ธรรมดาน้ำเป็นสิ่งพึงสงวน พวกท่านจักรดน้ำต้นไม้ต้องถอนต้นไม้ขึ้น ถอนขึ้นดูราก ต้นไหน รากหยั่งลึก ต้องรดน้ำให้มาก ต้นไหนรากหยั่งลงไม่ลึก ก็รดแต่น้อย”


เมื่อพวกลิงได้ฟังคำสั่งจากหัวหน้าแล้ว ก็ช่วยกันถอนต้นไม้มาดูรากแล้วรดน้ำ

ในขณะนั้น มีบัณฑิตผู้หนึ่งเดินผ่านมา บัณฑิตผู้นั้นเข้าไปสอบถามพวกลิง ถึงเหตุที่ถอนต้นไม้จนเสียหายหมด

เมื่อทราบเรื่องราวก็กล่าวว่า

“การประพฤติประโยชน์โดยผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์มิอาจนำสุขมาให้เลย ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสียเหมือนลิงที่ทำสวนฉะนั้น”

ไม่มีใครต้องการให้คนอื่นมองเราว่าเป็นคนไม่ฉลาด ปัญญาอ่อน

โดยเฉพาะคนไทยที่มักรักษาหน้าตัวเองจนไม่กล้าที่จะแสดงความเห็น หรือ ถามคำถามในห้องเรียน หรือ ห้องประชุม ด้วยเกรงว่าผู้อื่นจะเยาะเย้ยถากถางว่าเป็นคำถามโง ่ๆ จนบางครั้งตัวเราเองพลาดที่จะได้กอบโกยเอาความรู้ หรือ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือ เสียโอกาสที่จะให้และแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ของเราเองแก่ผู้อื่น

ที่ร้ายที่สุดคือ เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ความมั่นใจ และ ความนับถือตัวเองของเราจะสลายไป จนเราขาดอิสรภาพทางด้านความคิด

การจะสร้างความแกล้วกล้าให้ตัวเอง สิ่งหนึ่งที่บุคคลต้องมีคือ การพัฒนาความฉลาดของตนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันความฉลาดที่ทำให้บุคคลอยู่รอดในสังคมอย่างมีความสุขมีหลายมิติ และ เป้าประสงค์ในการพัฒนาบุคคลก็เปลี่ยนไปจากการเป็นเพียง...

...“คนเก่ง”

ให้เป็น

...“คนเก่ง คนดี และมีความสุข”

 

ความฉลาดตัวแรกที่ผู้เขียนจะยกมา คือ

1. ความฉลาดทางสติปัญญา พระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างสติปัญญา ได้แก่ สุ จิ ปุ ลิ

ฟัง

โดยเริ่มจาก “สุ” คือ สุตมยปัญญา...เป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง

 

คิดเมื่อได้ฟังจากผู้รู้แล้ว ต้องมี “จิ” คือ จินตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการไตร่ตรอง ใช้ความคิดวิเคราะห์เหตุวิเคราะห์ผล สร้างจินตนาการและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

 

 

ถาม“ปุ” คือ ปุจฉา คือการถาม เมื่อฟังและคิดตามแล้ว เมื่อเกิดความสงสัย ปรารถนาคำตอบเพิ่มเติม
ผู้ต้องการพัฒนาความฉลาดทางสติปัญญาต้องไม่อายในการไต่ถามเพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น

 

เขียนสุดท้ายคือ “ลิ” หรือ ลิขิต คือการจด หรือ บันทึกการทำฐานข้อมูล เพื่อรวบรวมความรู้ไม่ให้สูญหาย สามารถถ่ายทอดและเรียกใช้ได้อย่างมีระบบระเบียบ


       
2. ความฉลาดทางอารมณ คือความสามารถในการควบคุมตัวเอง ไม่ให้หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ก้าวร้าว อวดดี ดำเนินชีวิตไปอย่างราบรื่นและมีความสุข

ฉลาดทางอารมณ์

หลักธรรมที่ช่วยส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ ได้แก่พรหมวิหาร 4 เป็นคุณธรรมประจำตัวของผู้มีจิตใจกว้างขวางยิ่งใหญ่

มีเมตตา ปรารถนาดี มีไมตรี อยากให้ทุกคนมีความสุข

กรุณา ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ คิดสงสารและอยากช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์โดยสภาวะ คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเป็นทุกข์จร ได้แก่ ความไม่สมหวัง การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก เป็นต้น

มุทิตา คือพลอยยินดี แช่มชื่นเบิกบาน เมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุขและประสบกับความสำเร็จยิ่งขึ้น ไม่มีจิตริษยาเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน

อุเบกขา คือวางจิตเงียบสงบ สม่ำเสมอ เป็นกลาง มองเห็นว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายได้รับผลดีผลร้ายตามปัจจัยที่ประกอบ ไม่คิดดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดข้น ไม่เอนเอียงไปเพราะชอบหรือชัง คือปราศจากอคติ 4 คือ

- ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักเพราะชอบ
- โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ เกลียด
- โมหาคติ ลำเอียงเพราะโฉดเขลา ไม่รู้เหตุการณ์ที่แท้จริง และ
- กยาคติ ลำเอียงเพราะเกรงกลัวอำนาจ อิทธิพล หรือกลัวจะขาดผลประโยชน์

3. ความฉลาดทางคุณธรรม เป็นความฉลาดที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเล็กให้ติดเป็นนิสัย และ เป็นธรรมชาติ

หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางคุณธรรม ได้แก่ ฆราวาสธรรม

- สัจจะ คือความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อกัน ทำให้เกิดความไว้วางใจและไมตรีจิต

- ทมะ คือการรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึก ไม่กระทำตามใจตัวเอง

- ขันติ ความอดทน อดกลั้น ต่อความยากลำบาก การเจ็บไข้ได้ป่วย ต่อความเจ็บใจ และ

- จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่แบ่งปัน

4. ความฉลาดในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม สังคมจะอยู่ได้คนในสังคมจะต้องมีน้ำใจเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ไม่คิดว่าตนเองเหนือกว่าใคร มีใจเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดของผู้อื่น

คุณธรรมที่เปรียบดังสายใยในการถักทอร้อยใจเข้าด้วยกัน คือ สังควัตถุ 4 ซึ่งเป็นคุณธรรมขั้นปฏิบัติการควบคู่ไปกับคุณธรรมในใจ คือ พรหมวิหาร 4

สังควัตถุมีดังนี้

- ทาน คือการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ ทั้งวัตถุ  ตลอดจนความรู้ความเข้าใจ

แบ่งปัน

- ปิยวาจา การพูดจาต่อกันด้วยคำพูดที่เสนาะหู ประกอบด้วยประโยชน์ ทำให้เกิดรักใคร่นับถือ สามัคคีกัน

ปิยวาจา

- อัตถจริยา คือการทำตนให้เป็นประโยชน์ ขวนขวายช่วยเหลือในกิจการงาน รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาให้

ร่วมมือร่วมใจ

- สมานัตตตา ทำตัวให้เข้ากับเขาได้ วางตนให้มีความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบ ร่วมทุกข์ร่วมสุข

สมานัตตา

5. ความฉลาดในการมองเห็นความจริงของชีวิต ซึ่งเป็นความฉลาดที่สำคัญที่สุดที่จะดำรงชีพอย่างมีความสุข

ความจริงของชีวิต

เพราะแม้ว่าเราจะมีความฉลาดรอบรู้มากมายหรือมีความเมตตา กรุณาต่อผู้อื่น รู้สึกให้ทานเสียสละ พูดจาอ่อนหวาน แต่ถ้า ไม่มีความฉลาดในการเห็นความจริงของชีวิต ก็ยังไม่สามารถดับทุกข์ของเราได้...

...เราจะเป็นเพียง “คนเก่ง คนดี แต่ขาดสุข”

ดังนั้นความรู้เรื่องสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต คือ อริยสัจสี่ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้และเข้าใจ และ ปฏิบัติกิจต่ออริยสัจให้ครบถ้วน นั่นคือ

ความสงบ

  1. กำหนดรู้ทุกข์ หมายถึงศึกษาให้รู้จักและเข้าใจสภาวะที่เป็นทุกข์ตามที่มันเป็นของมันจริงๆโดยไม่ใช่ตามที่เราปรุงแต่งอยากให้มันเป็น หรือตามที่เราเกลียดชังมัน
  2. ละสมุทัย คือกำจัดเหตุแห่งทุกข์ แก้ไขกำจัดต้นตอของปัญหา ด้วยการสืบค้น วิเคราะห์และวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา นั่นคือความอยากที่ยึดถือเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง
  3. ทำให้แจ้งในนิโรธ หมายถึงการเข้าถึงภาวะที่แก้ไขปัญหาได้เสร็จสิ้น ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ พร้อมทั้งรู้ว่า การเข้าถึงจุดหมายให้สำเร็จเป็นไปได้อย่างไร
  4. เจริญมรรค หมายถึงการทำให้เกิดขึ้น มีขึ้น เพิ่มพูนขึ้นในข้อปฏิบัติของมรรคมีองค์ 8 ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างจริงใจ
    คนดี มีความสุข

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)

อ่านตอนอื่น

แสดงความคิดเห็นที่นี่