|
|
|
|
นิทานธรรม กับ ดร.เอ๋ย ตอน 9
พระพุทธไสยาสน์...ว่าด้วยอริยทรัพย์
|
ณ วิหารพระนอน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง
เป็นที่ประดิษฐานพระนอนที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือ ยาวถึงสองเส้นสามวา รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ (วัดพระนอนจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี) และ พระนอนวัดขุนอินทประมูล (อำเภอโพธิทอง จังหวัดอ่างทอง)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
องค์พระก่อด้วยอิฐถือปูน
แต่จุดที่นักท่องเที่ยวไปมุงดูน่าจะเป็นที่ฝ่าพระบาทของพระองค์ ซึ่งแต่ละข้างกว้าง 1.5 เมตรยาว 5 เมตร และ มีภาพมงคล 108 ประการ ประดับมุกอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ
รอบภาพธรรมจักรตรงกลางฝ่าพระบาทภาพมงคล 108 มีภาพพระบัลลังก์แก้ว ภาพปราสาท ภาพพระมงกุฎ ภาพพระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ภาพพระแสงหอก ภาพพวงดอกมะลิ ภาพธงชัย ภาพภูเขาไกรลาส ภาพพระยาราชสีห์ ภาพพระยาช้าง ภาพกินนร กินนรี และอื่นๆ
ภาพใต้พระบาทนั้นเป็นคติว่า พระพุทธเจ้าซึ่งมีกำเนิดเป็นพระราชโอรสซึ่งจะได้ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ก็ยังละทิ้งโลกสมบัติเหล่านั้น โดยทรงมองเห็นว่าเป็นเพียงเศษธุลีที่ติดพระบาท และ ออกแสวงหาสมบัติที่ประเสริฐกว่านั้น คือ อริยทรัพย์ จนตรัสรู้และปรินิพพานในที่สุด
แล้วชาวพุทธอย่างเรายังจะก้มหน้าหาทรัพย์มีค่าน้อย ไม่แบ่งเวลาไปค้นหาทรัพย์ที่มีค่ามากกว่าอยู่อีกนานเท่าไหร่?
ไม่ใช่พระองค์จะออกบวชหาอริยทรัพย์เพียงพระองค์เดียว แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาได้ส่งพระราหุลกุมารให้เข้าเฝ้าทูลขอราชสมบัติ
ครั้นเสวยภัตเสร็จแล้ว พระศาสดาทรงลุกจากอาสนะเสด็จออก พระกุมารติดตามไปกราบทูลตามคำสอนของพระมารดาว่า
“ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์เป็นลูก ได้รับอภิเษกแล้วจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์ ขอพระองค์จงประทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์ เพราะบุตรย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกของบิดา”
พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดาซึ่งเป็นไปตามวัฏฏะ มีแต่ความคับแค้น จึงจะให้อริยทรัพย์ 7 ประการ ที่พระองค์ได้แล้วแก่พระกุมารได้เป็นเจ้าของมรดกอันเป็นโลกุตตระ แล้วตรัสให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมารเป็นสามเณร
แล้วพระอริยทรัพย์ที่พระพุทธองค์ทรงได้แล้วคืออะไร ?
อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ เป็นคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอกเพราะไม่มีใครแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ ทำใจไม่อ้างว้างยากจน และ เป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย
ศรัทธา เป็นกระบวนการพัฒนาปัญญาในขั้นต้นที่สุด ศรัทธาที่ประสงค์ต้องเป็นความเชื่อที่เนื่องด้วยเหตุผล คือ มีปัญญารองรับ และ เป็นทางสืบต่อแก่ปัญญาได้ ไม่ใช่เพียงความรู้สึกมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิงโดยไม่ต้องถามหาเหตุผล
ดังนั้นธรรมหมวดใดก็ตามในพุทธธรรม ถ้ามีศรัทธาเป็นส่วนประกอบก็มักจะต้องมีปัญญาเป็นอีกข้อหนึ่งอยู่ด้วยเสมอไป แต่ในกรณีที่กล่าวถึงปัญญา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศรัทธาไว้ด้วย ปัญญาจึงสำคัญกว่าศรัทธา
คุณประโยชน์ของศรัทธาเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ
ในแนวหนึ่ง ศรัทธาเป็นปัจจัยให้เกิดปิติ ซึ่งทำให้เกิดปัสสัทธิ (ความสงบเยือกเย็น) นำไปสู่สมาธิ และ ปัญญาในที่สุด
อีกแนวหนึ่ง ศรัทธาทำให้เกิดวิริยะ คือ ความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติ ทดลองสิ่งที่เชื่อด้วยศรัทธานั้น ให้เห็นผลประจักษ์จริงจังแก่ตน ซึ่งนำไปสู่ปัญญาในที่สุด
แม้ศรัทธาจะมีคุณประโยชน์สำคัญ แต่ในชั้นสูงสุด ศรัทธาต้องหมดไป เมื่อรู้เห็นจริงด้วยตนเอง ก็ไม่ต้องอิงอาศัยศรัทธา โดยเหตุนี้ศรัทธาจึงไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์
ศีล สาระของศีลอยู่ที่เจตนา ไม่คิดล่วงละเมิด คือ ละเมิดระเบียบ กฎเกณฑ์ บทบัญญัติ วินัยที่วางกันไว้
อีกแง่หนึ่งคือละเมิดต่อผู้อื่น หมายถึงเจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่นนั่นเอง
มองอีกด้านหนึ่ง ศีลอยู่ที่ความสำรวมระวัง คือ คอยระวังปิดกั้นหลีกเว้นไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นนั่นเอง
มองในแง่ของระเบียบวินัยเพื่อสร้างสังคมที่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุข เป็นสภาพเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิต และ ปฏิบัติกิจของสมาชิกทั้งหลาย
มองในแง่ความประพฤติทำให้กายวาจาเรียบร้อยงดงาม เป็นข้อปฏิบัติสำหรับกำจัดกิเลสขั้นหยาบที่แสดงออกทางกายวาจา เป็นพื้นฐานของการฝึกคุณภาพจิต และ ให้สมรรถภาพของจิตอย่างได้ผลในระดับสมาธิได้
หิริ และ โอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลก ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เดือดร้อนและสับสนวุ่นวาย คือความละอายบาป ละอายใจต่อการกระทำชั่ว และความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่ว
เมื่อมีคุณธรรม 2 ข้อนี้ ก็อยู่อย่างอิสระ ไม่ต้องมีใครคอยควบคุม ไม่ต้องเกรงกลัวว่าใครจะติฉินนินทา หรือลงโทษทัณฑ์
พาหุสัจจะ คือ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งกว้างขวาง ใส่ใจฟัง ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ และเป็นความรู้ที่ปราศจากโทษ เป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหา เป็นไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ แก่ทั้งตัวเองและผู้อื่น
จาคะ คือความเสียสละ สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ใจกว้างพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว
ทำไมจาคะจึงถือเป็นอริยทรัพย์ ?
ก็เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะต้องสละสิ่งของให้คนที่เราไม่ชอบ แต่เมื่อทำไปแล้วจะรู้สึกโล่งโปร่งใจ มีความสุข ความภูมิใจอิ่มใจ
ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว หรือรู้ชัด ได้แก่ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล แยกแยะวินิจฉัยได้ว่าจริง เท็จ ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์
รู้ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล หรือ ปัจจัยต่าง ๆ รู้ภาวะตามเป็นจริงของสิ่งต่างๆ
รู้ว่าจะนำไปใช้หรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้ หรือ ให้สำเร็จผลที่มุ่งหมาย เป็นความรู้ระดับใช้งาน หรือ แก้ปัญหา
ตลอดจนเข้าใจโลก และ ชีวิตตามความเป็นจริง รู้ทันคติธรรดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเจริญและความเสื่อม หรือรู้อริยสัจ หรือมองเห็นปฏิจจสมุปบาท
ปัญญาทำให้ศรัทธาเป็นศรัทธาที่ถูกต้อง ไม่ผิดพลาดกลายเป็นความงมงาย ปัญญาทำให้ประพฤติศีลได้ถูกต้อง ปัญญาทำให้มีจาคะที่เป็นความสละแท้จริงได้
ธรรมทั้ง 7 ประการนี้ ท่านเรียกว่า พหุการธรรม หรือ ธรรมที่มีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนช่วยส่งเสริมในการบำเพ็ญคุณธรรมต่าง ๆ ยังประโยชน์ตน และ ประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์
เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มาก ย่อมสามารถใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตน เลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุข และบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆได้เป็นอันมาก
______________________________________________________________
โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)
อ่านตอนอื่น
แสดงความคิดเห็นที่นี่
|