เจ้านายประเภทที่สองที่สร้างความเครียดให้แก่คนทำงานไม่น้อย คือ เจ้านายที่ชอบจำผิด ไม่ว่าเราทำอะไรก็ผิดไปหมด ไม่เคยให้กำลังใจ มีแต่ตำหนิ ทำให้เราไม่กล้าเสนอความคิดหรือให้เห็นผลงานของเรา Douglas McGregor จากมหาวิทยาลัย MIT ได้ตั้งทฤษฎีที่เกี่ยวกับการจูงใจนทำงานไว้เกือบ 40 ปีที่แล้วที่มีผู้รู้จักแพร่หลาย นั่นคือ ทฤษฎีเอ๊กซ์ และ ทฤษฎีวาย ทฤษฎีเอ๊กซ์ กล่าวว่าโดยธรรมชาติแล้ว พนักงานมีความเกียจคร้าน และหลีกเลี่ยงงาน เจ้านายที่เชื่อถือในทฤษฎีเอ๊กซ์จะควบคุมลูกน้องอย่างใกล้ชิด ไม่ไว้ใจลูกน้อง ใช้มาตรการบังคับ และ สร้างแรงจูงใจโดยการข่มขู่และลงโทษ เมื่อมีอะไรผิดพลาด ก็จะพุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลทันที
ส่วนทฤษฎีวายกล่าวว่า พนักงานทุกคนมีความต้องการความก้าวหน้า พวกเขามีแรงจูงใจในการทำงาน ต้องการความรับผิดชอบ และ ต้องการสร้างผลงานที่ดี เจ้านายที่เชื่อถือทฤษฎีวายเชื่อว่าความพึงพอใจในงานเป็นแรงกระตุ้นให้คนทำงานดีขึ้น พวกเขาสร้างบรรยากาศที่ดี และ ไม่กดดันในที่ทำงาน สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานเชิงบวก เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วม เจ้านายที่ชอบตำหนิลูกน้อง มีแนวโน้มที่จะเชื่อในทฤษฎีเอ๊กซ์ หรือ อาจเป็นผู้ที่มีสัญชาติญาณของความต้องการอำนาจสูง ใช้วิธีการตำหนิเพื่อเป็นการข่มขู่ให้ลูกน้องเกรงกลัว อาจเป็นคนเก่งที่ไม่มีความอดทนต่อความผิดพลาด หรือ บางทีอาจจะตำหนิลูกน้องเพื่อหาคนรับผิดชอบแทนตัวเอง เจ้านายที่ตำหนิลูกน้อง จนลูกน้องไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องอันตรายสำหรับองค์กรมาก เพราะองค์กรจะขาดข้อมูลที่จำเป็น ยกกรณีตัวอย่างเมื่อกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ระเบิดกลางอากาศในปี พ.ศ. 2529 หลังจากถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าเพียง 73 วินาที ทำให้นักบินอวกาศเจ็ดคนเสียชีวิตทั้งหมด จากการสอบสวนพบว่า ปัญหาอยู่ที่ โอริง ซึ่งเป็นยางประเก็นวงหนึ่งอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นจัดทำให้ขาดความยืดหยุ่น แก๊สความร้อนสูงได้รั่วออกมารวมกับเปลวไฟที่ไอพ่นของบูสเตอร์ ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นเป็นลูกไฟขนาดยักษ์บนฟ้า หายนะครั้งนี้อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าผู้บังคับบัญชารับฟังความเห็นของวิศวกรตัวเล็ก ๆ ที่ได้เตือนว่า ในอากาศที่หนาวเหน็บเช่นนี้ อาจมีปัญหากับโอริง เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่รับฟัง วิศวกรที่มีข้อมูลก็ไม่กล้าผลักดันความเห็นของตนให้ปรากฏ จึงเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมาจนได้ ส่วนคนทำงานนั้น โดยธรรมชาติจะอยู่ไม่ได้ถ้าได้รับแต่แรงเสริมด้านลบ บางคนตอบสนองด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมของนาย เพื่อสร้างอำนาจให้ตัวเองเป็นการชดเชย บางคนหาแรงสนับสนุนโดยนำไปฟ้องนายระดับที่สูงกว่า ซึ่งมักไม่ได้ผล เพราะเจ้านายประเภทนี้มักมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้บังคับบัญชา บางคนจับกลุ่มนินทานาย เพื่อระบายอารมณ์ ซึ่งได้ผลดี จากผลการสำรวจพบว่า ในกลุ่มพนักงานที่สนิทสนมกัน ปัญหาจะน้อย เพราะได้ปลดปล่อยความเครียดระหว่างกัน แต่ผู้ที่ขาดเพื่อนจะรูสึกหดหู่ และ มีโอกาสที่จะย้ายงานมากกว่า บางคนไม่สนใจคำตำหนิของเจ้านาย แต่มุ่งไปที่ผลงานป็นหลัก บางคนโล่งใจที่เจ้านายตำหนิเพื่อนร่วมงานแทนที่จะเป็นตัวเอง แล ะอาจรู้สึกพอใจเล็ก ๆ ที่เปรียบเทียบกันแล้ว เราดูจะทำงานดีกว่า แต่ก็มีอีกมากที่เก็บเอาคำตำหนิมาทิ่มตำตนเองนานหลังจากเจ้านายหยุดไปแล้ว จนเกิดเป็นความเครียดสะสม เกิดความท้อถอย กังวล ความโกรธ และ อื่น ๆ แล้วแต่ใจจะปรุงแต่งไป แล้วชาวพุทธจะจัดการกับอารมณ์หดหู่ และความเครียดนี้ได้อย่างไร? ก่อนอื่น เราต้องไม่โกรธ เพราะเมื่อเราโกรธแล้ว เราจะแปลความสิ่งที่เจ้านายพูดด้วยอารมณ์โกรธ ใส่สีตีไข่ลงไปในคำพูดและท่าทาง เพิ่มดีกรีของการตำหนิจนเกินเลยความเป็นจริง แต่เราควรเปิดใจกว้างเสียก่อน รับฟังอย่างมีสติ ฟังที่เนื้อหาเพื่อมองเห็นข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของเรา แล้วนำไปแก้ไข ปรับปรุงเพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดเช่นนั้นอีกในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปรุงแต่งให้เกิดอาการฟู ๆ แฟ่บ ๆ ฟูเมื่อมีคนชม และแฟบเมื่อมีคนตำหนิ โดยคิดไปว่า เจ้านายเกลียดเรา เราเป็นคนไม่เอาไหน เราคงไม่มีอนาคตในองค์กรนี้ ฯลฯ พระพุทธเจ้าสอนชาวพุทธให้รู้จักโลกธรรม หมายถึง เรื่องของโลกซึ่งมีอยู่ประจำกับชีวิต สังคม และ โลกของมนุษย์ โลกธรรมแบ่งออกเป็น 8 ชนิด จำแนกออกเป็นสองฝ่ายคู่กัน คือ ฝ่ายที่น่าปรารถนา ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และ ฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา ได้แก่ เสียลาภ เสื่อมยศ นินทา (ตำหนิติเตียน) ตกทุกข์ ไม่ว่าใครก็ตามจะต้องประสบกับโลกธรรมทั้งทางดีและทางไม่ดีด้วยกันทั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อประสบแล้ว เราต้องทำใจเอาไว้กลาง ๆ ไม่ตื่นเต้นดีใจกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะทุกอย่างย่อมแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา มีลาภ มียศ มีผู้สรรเสริญ มีสุขในวันนี้ แต่พรุ่งนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อาจกลับกลายเป็นเสียลาภ เสื่อมยศ มีผู้นินทา และ เป็นทุกข์ได้ในพริบตาเช่นกัน ปัญหาของมนุษย์มักอยู่ที่มนุษย์ต้องการแต่โลกธรรมในส่วนที่ดี เมื่อได้มาแล้วก็ยึดมั่นไม่ให้มันสูญหายไป และ เกลียดกลัวผลักไสโลกธรรมในส่วนที่ไม่ดี แต่ถ้าเรารู้และเข้าใจว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง มนุษย์ทุกคนก็ต้องประสบกับโลกธรรมทั้งสองฝ่าย แต่มันไม่ยืนยงอยู่กับเราไปนาน อย่าได้ใส่ใจสร้างอารมณ์พองฟู หรือ แห้งเหี่ยวไปกับสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเลย แต่ถ้าเกิดอารมณ์ดีใจ เสียใจแล้ว ก็ให้รีบมีสติรับรู้ และ ปล่อยวางเสียโดยเร็ว นำตัวเองไปอยู่ในปัจจุบัน อย่าเก็บเอาอารมณ์นั้น ๆ มาทำร้ายตัวเองต่อไป เพราะเจ้านายเขาก็เดินจากไปตั้งนานแล้ว หรือ ตัวเราออกมาจากห้องทำงานของนายมาตั้งนานแล้ว คำพูดที่ไม่ถูกหูก็จบไปนานแล้ว ตอนนี้ต้องถามตัวเองว่า ณ เวลานี้ ใครกันแน่ที่กำลังทำให้ตัวเราเครียด เมื่อมีขยะในบ้าน เรานำออกไปทิ้งทุกวัน แต่ทำไมเราจึงชอบเก็บขยะในใจไว้เป็นเชื้อของความทุกข์ต่อไป เราหันความสนใจของเรามาอยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำ ณ ปัจจุบันไม่ดีกว่าหรือ อันที่จริง คำตำหนิมีความดีอยู่มาก ทำให้เราได้ทบทวนสิ่งที่ทำไป และ นำมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น หากไม่มีผู้ใดชี้ให้เห็น เราจะแก้ไขหรือปรับปรุงได้อย่างไร การทีเจ้านายที่ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง เปรียบเสมือนมีครูที่คอยเคี่ยวเข็ญ สามารถช่วยพัฒนาเราเป็นคนเก่งได้ สรุปโดยย่อ หากเรามีเจ้านายที่คอยจับผิด ชอบตำหนิ เราต้องเปิดใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์ที่เนื้อหา แล ะนำไปปรับปรุงตัวเอง โดยไม่ปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์หดหู่ เข้าใจหลักโลกธรรม ว่าทุกคนต้องประสบทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี แต่ไม่มีอะไรยั่งยืน จึงไม่ควรยึดติด หรือ เก็บเอาความรู้สึกนั้นไปทำร้ายเราซ้ำซากไม่รู้จบ แต่ควรมุ่งเน้นในสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังทำอยู่ในปัจจุบันจะดีกว่า ______________________________________________________________ โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์ ขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้ ที่นี่
|
|||||||