นิทานธรรม กับ ดร.เอ๋ย ตอน 13

ไฟไหม้โรงงาน... ว่าด้วยโยนิโส มนสิการ

ในเวลา 17:30 น. เย็นของวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2457 ได้เกิดไฟไหม้ที่โรงงานขนาดใหญ่ของเอลวา เอดิสัน ในรัฐนิวเจอร์ซี่...

ไฟไหม้โรงงานเอลวา เอดิสัน

 

...ทำลายอาคารไปถึง 10 หลัง และ ดับได้เมื่อเที่ยงคืนของวันเดียวกัน

เพลิงเผาผลาญผลงานทดลองสำคัญลงสิ้นเชิง ความเสียหายเป็นตัวเงินของอาคารและทรัพย์สินมีมูลค่าสูงถึง เจ็ดล้านเหรียญสหรัฐ

(เอดิสันทำประกันไว้เพียง 2 ล้านเหรียญ)

โธมัส เอลวา เอดิสันแต่แทนที่เอดิสันจะท้อแท้ สิ้นหวัง เขากลับยืนมองดูไฟไหม้อย่างใจเย็น ทั้งให้ลูกชายไปเรียกภรรยามาดูด้วย โดยกล่าวว่า

“ให้แม่มาดูด้วย โอกาสที่ได้เห็นไฟไหม้ใหญ่ขนาดนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อย”

เอดิสันให้สัมภาษณ์ขณะมองดูไฟกำลังทำลายผลงานของเขาว่า

“ถึงแม้ผมจะมีอายุเกิน 67 ปี แต่ผมจะเริ่มต้นใหม่ทันทีพรุ่งนี้ คืนนี้เราเสียหายหนักมาก แต่พรุ่งนี้เราจะเก็บกวาดซากเหล่านี้ เมื่อพื้นเริ่มเย็น เราจะสร้างโรงงานใหม่ทันที”

และ

“มันมีโอกาสใหญ่หลวงในวิกฤติ สิ่งที่เราทำผิดพลาดถูกทำลายหมด ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เราได้เริ่มต้นใหม่”

และอีก 3 สัปดาห์ถัดมา เขาก็ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงได้สำเร็จ

เอดิสัน กับ เครื่องบันทึกเสียง

ผู้เขียนต้องขอยกเอลวา เอดิสันขึ้นมาเป็นครั้งที่สองในหนังสือเล่มเดียวกัน เพราะท่านเป็นตัวอย่างของผู้ที่

“คิดเป็น คิดดี คิดออกจากทุกข์”

หรือ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า สามารถใช้ โยนิโส มนสิการ นำความคิดไปในทางที่ถูก ได้อย่างดีเยี่ยม

พระพุทธเจ้า

โยนิโส มนสิการ คือ การใช้ความคิดถูกวิธี มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผล จนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ ให้เห็นสิ่งนั้น ๆ หรือ ปัญหานั้น ๆ ตามสภาวะ และ ตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

ผู้ที่รู้จักคิด อาจเกิดปัญญาเข้าใจโลก และ ชีวิตได้ เมื่อมีเหตุให้หดหู่ท้อถอย หรือ เศร้าเสียใจ เขาก็คิดแก้ไขปลุกใจของเขาได้สำเร็จเป็นอย่างดี

ส่วนในทางตรงกันข้าม ถ้ามีอโยนิโส มนสิการ แม้แต่อยู่ในสถานการณ์ที่ดีงามประสบสิ่งดีงาม ก็ยังคิดให้เป็นในทางร้าย และ ก่อการกระทำที่ร้ายได้ เช่น บางคน เห็นคนอื่นยิ้ม ก็คอยจะคิดว่าเขาเยาะเย้ยดูหมิ่น

ถ้าปล่อยให้กระแสความคิดเดินไปเช่นนั้นอยู่บ่อย ๆ อโยนิโส มนสิการก็จะกลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงอกุศลธรรมชนิดนั้น ๆ ให้แก่กล้ายิ่งขึ้น เช่นคนที่คอยสั่งสมความคิดมองแง่ร้าย คอยเห็นคนอื่นเป็นศัตรู จะระแวงว่าคนอื่นคิดร้ายจนสะดุ้งผวากลายเป็นโรคประสาท

การใช้โยนิโส มนสิการกับการใช้อโยนิโส มนสิการให้ผลต่อจิตใจ และ พฤติกรรมไปคนละอย่าง  เช่น คนหนึ่งคิดถึงความตายด้วยอโยนิโส มนสิการ ก็เกิดความหวาดหวั่น หดหู่ ท้อถอย ไม่อยากทำอะไร ๆ หรือฟุ้งซ่าน คิดวุ่นวาย

หดหู่

ส่วนอีกคนหนึ่ง คิดถึงความตายด้วยโยนิโส มนสิการ ก็จะทำใจให้สงบ เกิดความไม่ประมาท กระตือรือร้นทำสิ่งดีงาม

รวมความว่าโยนิโส มนสิการ คือ ความคิดที่สกัดอวิชชาตัณหา

วิธีการคิดแบบโยนิโส มนสิการมี 10 วิธีด้วยกัน  คือ

1. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ และ คุณค่าเทียม  คือ การพิจารณาในการเข้าเกี่ยวข้องต่อสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค ใช้สอย ซื้อหา ครอบครอง โดยมุ่งเข้าใจและเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง ไม่ติดในรูปร่างภายนอกของวัตถุ ทำให้พ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ ต่างจากคุณค่าพอกเสริมด้วยตัณหา ทำให้เกิดอกุศลธรรม

เช่นความโลภ ความมัวเมา ความริษยา มานะ ทิฏฐิ ตลอดจนการยกตนข่มผู้อื่น แก่งแย่งเบียดเบียน

เช่น อาหารมีคุณค่าแท้อยู่ที่ประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจ คุณค่าเทียมคือความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน

รถยนต์มีคุณค่าแท้ตรงที่ช่วยให้การเดินทางได้รวดเร็วเกื้อกูลแก่การปฏิบัติการงานสะดวกปลอดภัยแข็งแรงทนทาน คุณค่าเทียมอยู่ที่ความโก้หรูหราการแสดงฐานะความสวยงาม และ ความเด่น เป็นต้น

2. วิธีคิดแบบคุณโทษ และ ทางออก : เล็งเห็นว่าทุกสิ่งมีทั้งคุณและโทษ ไม่ใช่มองแต่ด้านดีอย่างเดียว หรือ ด้านเสียเพียงอย่างเดียว และ จะต้องมองเห็นทางออก มองเห็นจุดหมาย รู้ว่าจุดหมายที่จะไปนั้นคืออะไร ดีกว่าภาวะที่เป็นปัญหาอยู่นี้อย่างไร จุดหมายที่จะไปนั้นมีอยู่จริง หรือเป็นไปได้อย่างไร ไม่พึงผลีผลามละทิ้งสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหา หรือ ผลีผลามปฏิบัติ

3. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม : คิดในแนวสกัดกั้น หรือ ขัดเกลากิเลส คิดหาประโยชน์จากเรื่องต่าง ๆ จากทั้งแง่ดี และ แง่เสีย โดยพยายามถือเอาประโยชน์ให้ได้ เช่น เรื่องของความตาย ถ้าเราคิดถึงความตายแล้วเป็นเหตุให้ทำความดีได้ ก็ถือว่าเป็นการปลุกเร้าให้มีความพยายามในการทำความดี ถือว่าเป็นการคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม

ในกรณีที่ความคิดอกุศลเกิดขึ้นแล้ว อาจแก้ไขได้ดังนี้

คิดถึงสิ่งอื่นที่ดีงามมาใส่ในใจแทน เช่นนึกถึงสิ่งที่ทำให้เกิดเมตตา แทนสิ่งที่ทำให้เกิดโทสะเป็นต้น

หากยังไม่หาย ก็พิจารณาถึงโทษของความคิดที่เป็นอกุศลเหล่านั้นว่า ไม่ดีไม่งาม ก่อผลร้าย นำความทุกข์มาให้

ถ้ายังไม่หาย ก็ให้เลิกใส่ใจถึงความคิดชั่วร้ายที่เป็นอกุศลนั้นเลย เหมือนคนไม่อยากเห็นรูปอะไรที่อยู่ต่อตา ก็หลับตาหรือหันไปมองทางอื่นเสีย

ถ้ายังไม่หายก็จับเอาความคิดนั้นมาศึกษาว่าความคิดนั้นเป็นอย่างไร เกิดจากมูลเหตุปัจจัยอะไร

ถ้ายังไม่หายก็ให้ขบฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน อธิษฐานจิต ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ข่มใจระงับความคิดนั้นเสีย

4. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ : เป็นการคิดแบบเชื่อมโยงหลักการ กับ ความมุ่งหมาย

เป็นความคิดที่สำคัญมากในการจะลงมือทำการตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตรงตามความมุ่งหมาย ไม่กลายเป็นการกระทำที่เคลื่อนคลาด เลื่อนลอย หรือ งมงาย โดยต้องเข้าใจความหมายหรือความมุ่งหมายของหลักการนั้น ๆ ว่า ทำไปเพื่ออะไร หลักการนั้นกำหนดวางไว้เพื่ออะไร จะนำไปสู่ผล หรือ ที่หมายใด ทั้งจุดหมายสุดท้าย และ เป้าหมายในระหว่างทาง

5. วิธีคิดแบบอริยสัจ : เป็นการคิดแก้ปัญหาที่สาเหตุ เริ่มต้นจากปัญหาหรือความทุกข์ที่ประสบ โดยกำหนดรู้ ทำความเข้าใจกับปัญหา หรือ ความทุกข์นั้นให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อแก้ไข

ในเวลาเดียวกัน ก็กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ เป็นไปได้อย่างไร แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหาให้สอดคล้องกับการที่จะบรรลุจุหมายที่กำหนดไว้นั้น

6. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุและปัจจัย : พิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือ พิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไข ด้วยการค้นหาสาเหตุ และ ปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา โดยประจักษ์รู้ว่า

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”

7. วิธีคิดแบบสามัญลักษณะ : วิธีคิดแบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา” นั่นคือรู้ว่าสิ่งต่างๆ มีเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน และดับสลายไป เพื่อจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นและไม่เป็นทุกข์จนเกินไป 

8. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน : คือ มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่ตลอด เนื่องจากการคิดแบบไม่ยอมอยู่ในปัจจุบัน คือความคิดที่เกาะติดกับอดีต และ เลื่อนลอยไปในอนาคต จะทำให้เกิดวิตกกังวล หรือ เป็นทุกข์ด้วยอำนาจของตัณหา หวนละห้อยโหยหาอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือ เคว้งคว้างเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปในภาพที่เพ้อฝันไม่มีฐานแห่งความเป็นจริง

 

9. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ : เป็นการคิดแบบแยกย่อยเป็นส่วนๆ ให้เห็นความไม่มีแก่นสาร หรือ ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ให้หายยึดติดในสมมติบัญญัติ โดยเฉพาะเห็น สัตว์ บุคคล เป็นเพียงการประชุมข้าวขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เรียกว่าขันธ์ 5 และ ขันธ์ 5 แต่ละอย่างก็เกิดขึ้นจากส่วนประกอบย่อยต่อไปอีก

เมื่อแยกแยะส่วนประกอบออกก็เห็นภาวะที่องค์ประกอบเหล่านั้นอาศัยกัน และ ขึ้นกับเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เป็นตัวของมันเองโดยแท้จริง ยิ่งกว่านั้น องค์ประกอบ และ เหตุปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ มีการเกิดดับตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน  

พระพุทธเจ้า10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท : วิภัชชวาท ไม่ใช่วิธีการคิดโดยตรง แต่ เป็นวิธีพูด หรือ การแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พูดย่อมสำเร็จมาจากความคิดทั้งสิ้น

วิภัชชวาท เป็นการพูดแยกแยะ พูดจำแนก แจกแจง หรือ แสดงคำสอนแบบวิเคราะห์ โดยการมอง และ แสดงความจริงให้เห็นในแต่ละแง่ละด้านให้ครบทุกแง่ทุกด้าน

เช่นจะว่าดีหรือไม่ดี ก็ว่า ดีในแง่นั้น ด้านนั้น กรณีนั้น แต่ไม่ดีในแง่นี้ ด้านนี้ กรณีนี้ เป็นต้น

หรือจำแนกโดยลำดับขณะ เช่น เมื่อโจรปล้นบ้านฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย คนทั่วไปอาจพูดว่า โจรฆ่าคนเพราะความโลภ แต่เมื่อวิเคราะห์โดยลำดับขณะแล้ว ความโลภไม่ได้เป็นเหตุของการฆ่า แต่เป็นตัวการเริ่มต้นในเรื่องนั้น เมื่อเจ้าทรัพย์เป็นอุปสรรคต่อการได้ทรัพย์ เป็นเหตุให้โจรมีโทสะต่อเจ้าทรัพย์ ต้นเหตุของการฆ่าที่แท้จริงคือโทสะ เป็นต้น

ขอจบบทนี้ด้วยนิทานอีกเรื่องหนึ่ง ดังนี้  

หญิงแก่คนหนึ่ง ส่องกระจกในตอนเช้า เธอเห็นผมเหลืออยู่เพียงสามเส้นบนศีรษะ เธอใช้โยนิโส มนสิการรู้เท่าทันธรรมดาของการชราภาพ พูดกับตัวเองว่า

“วันนี้ฉันจะถักผมเปีย”

และ เธอก็ใช้ชีวิตในวันนั้นอย่างมีความสุข

หลายวันต่อมา เธอส่องกระจกพบว่าเหลือผมเพียงสองเส้น เธอพูดกับตัวเองว่า

“วันนี้ฉันจะแสกผมกลาง”

และ เธอก็ใช้ชีวิตในวันนั้นอย่างมีความสุข

สัปดาห์หนึ่งผ่านไป เธอเหลือผมเพียงเส้นเดียว เธอพูดกับตัวเองว่า

“อืม...วันนี้ฉันจะไว้ผมแกละ”

และ เธอก็ใช้ชีวิตในวันนั้นอย่างมีความสุข

วันรุ่งขึ้น เธอส่องกระจกเห็นว่าศีรษะของตัวเองไม่เหลือผมสักเส้นเดียว เธอพูดกับตัวเองว่า

“ในที่สุดก็ล้านจนได้ ดีจริง ต่อไปนี้ไม่ต้องเสียเวลาตัดสินใจว่าจะทำผมทรงอะไรอีกแล้ว”

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
ส่ง อี เมล์ ถึง ดร.อภิวรรณ

อ่านตอนอื่น

ขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้ ที่นี่