| |||||||
| |||||||
"วันหนึ่งเด็กผู้ชายคนหนึ่งนั่งเล่นอยู่กับแจกันโบราณราคาแพง เขาเอามือล้วงเข้าไปแล้วดึงออกมาไม่ได้ ผู้เป็นพ่อพยายามช่วยแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดต้องตัดสินใจทุบแจกันใบนั้นให้แตก เมื่อทุบแจกันมีค่าแตกแล้ว จึงได้พบว่าสาเหตุที่มือของลูกชายติดอยู่ในแจกันก็เพราะเขากำลังกำมือแน่น เมื่อแบมือออกมาจึงเห็นว่า เด็กน้อยกำเหรียญสลึงอยู่หนึ่งอัน ไม่ยอมปล่อย" หลังจากอ่านนิทานเรื่องนี้แล้ว ขอให้ผู้อ่านย้อนมองดูตัวเราเองสักนิด แล้วจะเห็นว่าพฤติกรรมของพวกเราที่ยังมีตัณหุปาทาน หรือ การยึดติดกับความอยาก ก็มีลักษณะเดียวกันกับเด็กน้อยที่ไร้เดียงสาคนนี้ เรากำสิ่งที่รักที่ชอบที่ได้มาด้วยความกลัวจะสูญเสียด้วยความหวงแหนเอาไว้กับตน ต้องการให้คงอยู่ในสภาพนั้นตลอดไป เมื่อยังเล็กอยู่เราหวงแหนของเล่น ขนม หวงพ่อหวงแม่ ไม่อยากให้พี่น้องคนอื่นได้รับความเอาใจใส่ของพ่อแม่เหนือกว่าตัวเรา เราหวงความสนุกสนาน เช่น การติดเกมส์ ติดเพื่อน บ้างก็หวงคะแนนในโรงเรียนเกิดความเครียดเมื่อใกล้สอบ หวงหน้าตา และ คำเยินยอสรรเสริญ บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเมื่อผลสอบออกมาไม่เป็นไปตามที่หวัง หวงเพื่อน หวงคนรัก ยึดถือเอาเขามาเป็นของตัวเพียงคนเดียว เมื่อทำงานก็หวงตำแหน่ง หวงรายได้ หวงเกียรติยศอำนาจ ชื่อเสียง สรรเสริญเยินยอ ทำงานด้วยความเครียด กลัวสิ่งเหล่านี้จะสูญหายไป หวงลูกหลานทรัพย์สมบัติ หวงความสุขทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ สุดท้ายก็หวงชีวิตของตัวเอง ผลักไสความเจ็บไข้ได้ป่วย และ ความตาย เมื่อเราหวงสิ่งใด เราก็กำสิ่งนั้นไว้แน่น แต่ยิ่งเรากำมันแน่นแค่ไหน เราก็กำความทุกข์เอาไว้แน่นเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยความระแวงว่าจะเสียสิ่งนั้น หรือ สิ่งนั้นจะแปรเปลี่ยนไป และ ความกลัวนี้จะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน... เพราะไม่มีอะไรที่เราเป็นเจ้าของจริง ๆ ยิ่งดิ้นรนยิ่งผลักไส ก็จะยิ่งถลำลงไปในมายา ลึกลงไปจนยากจะถอนขึ้นมาได้ จนตกเป็นทาสของสิ่งที่เราต้องการเป็นนาย โดยหารู้ไม่ว่าถ้าเราเพียงแต่ปล่อยการจับกุมมันไว้ เราจะเป็นอิสระและพ้นจากความเครียด ความทุกข์ ความกังวลใจทั้งหลายทั้งปวงในทันที การที่คนเรายึดติดในสิ่งที่ชอบยังเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่ซ้ำร้าย คนเรากลับหวงแหนสิ่งที่ไม่ชอบอีกด้วย เราไม่ชอบความทุกข์ แต่ก็ยังแบกความทุกข์มาครุ่นคิด ทำร้ายตนเอง เช่น เราหวงแหนความโกรธ ไม่อยากให้มันผ่านไป หวงแหนคำพูดของคนอื่นที่ให้ร้ายตน หวงแหนความเศร้า หวงแหนเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่ผ่านไปแล้ว เอามาย้ำคิดย้ำทำ หวงแหนเรื่องสะเทือนใจที่เป็นอดีตไปแล้ว แต่ก็หมกมุ่นครุ่นคิดกับมัน สิ่งเหล่านี้เมื่อคิดถึงเมื่อไรก็ให้เป็นทุกข์เมื่อนั้น แต่เรากลับกำมันแน่นด้วยความเจ็บปวด ทั้งนี้เพราะ อวิชชา ตัวเดียว การขาดความรู้ซึ่งเป็นอาวุธในการต่อสู้กับกิเลส ได้แก่ความโลภ โกรธ หลง ทำให้เราพ่ายแพ้ต่อกิเลสอยู่ร่ำไป เจ้าตัวอวิชชาตัวนี้ มันคือความไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ หลงไปตามสมมุติบัญญัติ ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่าง ๆ ภาวะขาดปัญญา ความไม่เข้าใจเหตุผล การไม่ใช้ปัญญา หรือ ปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้น ทำให้หลงผิดว่ามีตัวตน ก็ย่อมมีความอยากเพื่อตัวตน และ ความยึดถือเพื่อตัวตนต่างๆ เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น และ ในเวลาที่อยากและยึดถือเช่นนั้น ยิ่งอยากและยึดแรงเท่าใด ก็ยิ่งมองไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพของมัน และ ละเลยการปฏิบัติต่อมันด้วยสติปัญญาตามเหตุตามผลมากขึ้นเพียงนั้น เมื่อมองลึกลงไปอีก จะเห็นว่าอวิชชาเป็นฐานก่อตัวของตัณหา และ ตัณหาเป็นตัวเสริมกำลังให้แก่อวิชชา
อวิชชานี้เป็นตัวเริ่มของความทุกข์ทั้งปวง กำจัดได้เมื่อเราประจักษ์ในสามัญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ของสิ่งทั้งปวง ได้แก ่อนิจจตา ความไม่เที่ยงความไม่คงที่ความไม่ยั่งยืนภาวะที่เกิดขึ้นและเสื่อมสลายไป ทุกขตา คือ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้น และ สลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่สภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และ ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน อนัตตตา เป็นความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง
สิ่งทั้งหลายหากจะกล่าวว่ามี ก็ต้องว่ามีอยู่ในรูปของกระแสที่เกิดดับสืบต่อกันไปตลอดเวลา ไม่ขาดสาย (เช่นเดียวกับกระแสไฟฟ้าที่เป็นคลื่นของขั้วบวกขั้วลบ หรือ การทำงานของอิเลคโทรนิคที่เป็นผลของกระแสไฟฟ้าเปิด-ปิด ๆ แต่ด้วยความเร็วที่สูงมาก ทำให้ดูเหมือนสิ่งนั้นเป็นอยู่ต่อเนื่อง) ปัจจุบันนักฟิสิกส์สมัยใหม่ได้พบความจริงของสรรพสิ่งตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้กว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว เช่น พบว่าโครงสร้างของอะตอมของสสารไม่ได้เป็นอิเล็คตรอนวิ่งรอบนิวเคลียสที่อยู่นิ่ง ๆ ตามที่เคยเล่าเรียนมา แต่อะตอมมีการเกิดดับด้วยความเร็วหลายล้านรอบต่อวินาที ควอนตัมฟิสิกส์เปิดเผยสภาวะที่เรียกว่าความไม่แน่นอน และ ด้วยกล้องส่องจักรวาลฮับเบิ้ล เราก็ได้รู้ว่าจักรวาลของเราไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีการเกิดใหม่ ดับลง ขยายตัวอยู่ตลอดเวลา หากเราตั้งกล้องถ่ายวีดีโอไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนโลก และ นำภาพที่ได้มาเร่งสปีดให้เร็วขึ้น เราจะได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไหว ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ตั้งแต่โลกที่หมุนรอบตัวส่งผลให้มนุษย์โลกมองเป็นดวงอาทิตย์ขึ้นในทิศตะวันออก และ ตกในทิศตะวันตก เงาของวัตถุต่าง ๆ บนโลกที่ทาบบนพื้นขยับไปตามมุมของดวงอาทิตย์ แม้แต่ดวงอาทิตย์เองมีสนามแม่เหล็กปั่นป่วน สภาพของตัวมันเองเปลี่ยนแปลง เกิดจุดมืดซึ่งมีจำนวนมากขึ้น และ ลดลงอย่างเป็นคาบ และ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในอีก 5,000 ล้านปี ดวงอาทิตย์จะใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่มันมีในการเผาผลาญเพื่อเปล่งแสง และ พลังงานความร้อนจนหมด จนทำให้มันดับลง ความร้อนบนผิวโลกทำให้อากาศรอบตัวเคลื่อนไหว ภาพวีดีโอที่เร่งสปีดจะเห็นใบไม้สั่นไหวเพราะแรงลม ใบไม้เหล่านี้เมื่อเริ่มผลิจากตุ่มเล็ก ๆ บนกิ่งไม้ มันคลี่ใบสีอ่อน เมื่อกางเต็มใบสีสันของมันก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเข้มขึ้น ความชุ่มชื้นที่เคยมีก็ค่อย ๆ หายไป ใบไม้เริ่มแห้งกรอบห่อตัว กลายเป็นสีน้ำตาล แล้วหลุดจากกิ่งร่วงลงสู่พื้น กลายสภาพเป็นดินต่อไป แม้แต่วัตถุคงทนเช่นโลหะ หากเร่งสปีดของภาพให้เร็วยิ่งขึ้น จะเห็นว่าแม้แต่เหล็กก็จะทำปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจน และ ความชื้นในอากาศ กลายสภาพเป็นสนิม และ ผุพังไปในที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกนาโนวินาที
เรามองด้วยตา เห็นตัวเองเปลี่ยนรูปร่างจากการเป็นเด็ก สู่ความเป็นหนุ่มสาว และ ชราภาพในที่สุด เราได้ยินเสียงที่เกิดขึ้น และ เปลี่ยนไป ไม่มีเสียงใดที่ดังอยู่ยืนยงไปตลอด เราได้กลิ่นหอมของดอกไม้ ของน้ำหอม หรือ กลิ่นเหม็นของขยะ ไม่ว่าจะติดจมูกนานเท่าใด แต่กลิ่นเหล่านั้นก็หมดไป เราได้รสชาติของอาหาร ได้รับสัมผัสทางกาย นอนบนที่นอนอ่อนนุ่ม เช้ามาก็ต้องลุก เราจึงพอเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสิ่งภายนอกได้ แต่เราไม่เข้าใจว่า ธรรมารมณ์ หรือ สิ่งที่เราสัมผัสด้วยใจนั้น แท้จริงก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เช่น ความรัก ความชัง ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความภูมิใจ ความผิดหวัง ความเศร้าโศกเสียใจ ความสุข ความทุกข์ ซึ่งล้วนอยู่ในรูปของพลังงานเช่นเดียวกับวัตถุทั้งหลายทั้งปวง และ มีโครงสร้างที่ไม่แตกต่างกันเลย เมื่อไม่มีอะไรในโลกให้ยึดให้อยาก เพราะมันไม่มีอะไรที่เป็นตัวของมันจริง ๆ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากเราจะเข้าไปยึดไปอยาก ก็เป็นการขัดขืนธรรมชาติ และ เป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมให้มันเป็นไปตามที่เราต้องการตลอดไป ทำให้เกิดทุกข์ ดังมีคำกลอนจากพระว่า ... “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย” การยึดอะไรแน่น ไม่เพียงแต่จะทำให้ทุกข์เท่านั้น แต่อาจจะถึงกับทำให้เราเสียชีวิต ดังเรื่องจากนิทานต่อไปนี้ "ลิงตัวหนึ่งมันฉลาด เอาหางหย่อนลงไปในรูปูทะเล ปูจึงหนีบหางลิง ลิงก็ดึงเอาปูขึ้นมากิน คราวต่อไปโดนปูตัวใหญ่ มันคีบหางลิงไว้ไม่ปล่อย ลิงไม่สามารถที่จะดึงปูขึ้นมาได้เพราะปูตัวใหญ่ และ มีกำลังมากกว่า
______________________________________________________________ โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์ ขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้ ที่นี่
|
|||||||