นิทานธรรม กับ ดร.เอ๋ย ตอน 15

เพื่อนของโสเครติส...ว่าด้วยเรื่องกัลยาณมิตร

ในกรีซโบราณ โสเครติสได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่

โสเครติส

วันหนึ่งมีชายคนหนึ่งถามท่านว่า

“ท่านทราบไหมว่าผมเพิ่งได้ยินเรื่องอะไรเกี่ยวกับเพื่อนของท่าน ?”  

“เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งเล่า ก่อนอื่น ผมขอถามคำถามสักสองสามข้อ” โสเครติสตอบ


“ข้อแรก ท่านแน่ใจอย่างเด็ดขาดหรือว่าเรื่องที่จะเล่านี้เป็นเรื่องจริง ? ”

“อืม... ที่จริงผมได้ยินมาอีกทีนะครับ” ชายหนุ่มตอบ

“งั้นท่านก็ไม่ทราบว่ามันจริงหรือเท็จใช่ไหม ? คำถามที่สองนะครับ   
มันเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ครับ ?” โสเครติสถามต่อ

“เอ้อ... ไม่ใช่ครับ” ชายหนุ่มตอบ

“ท่านจะเล่าเรื่องที่ไม่ดีเกี่ยวกับเพื่อนของผมทั้ง ๆ ที่ไม่รู้แน่ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ขอผมถามข้อสุดท้ายนะครับ สิ่งที่ท่านจะเล่ามีประโยชน์สำหรับผมไหมครับ ?” โสเครติสถาม

“ก็ไม่เชิงครับ”  ชายหนุ่มตอบ


“ตกลงเรื่องที่ท่านจะเล่าอาจไม่เป็นความจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดี และไม่มีประโยชน์ ท่านจะเล่าไปทำไมหรือ ?” โสเครติสย้อนถาม

บางครั้ง เราก็อาจฆ่าความเบื่อด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นลับหลัง แต่ถ้าคนที่คุณพูดถึงในทางเสียหายเป็นเพื่อนของคุณ มันก็ไม่คุ้มกันเลยที่จะเสียเพื่อนด้วยความคะนองปาก

 

พระพุทธเจ้าได้สอนวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อเพื่อน ซึ่งถือเป็นบุคคลที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ไว้ในทิศเบื้องซ้าย ดังนี้

1. เผื่อแผ่แบ่งปัน

2. พูดจามีน้ำใจ

3. ช่วยเหลือเกื้อกูล

4. มีตนเสมอร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย และ

5. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

ส่วนมิตรสหายเมื่อได้รับการปฏิบัติโดยชอบแล้ว ก็ควรอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

1. เมื่อเพื่อนประมาทช่วยรักษาป้องกัน

2. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน

3. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้

4. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก  และ

5. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

การมีเพื่อนดีเป็นลาภอันประเสริฐ มีพุทธภาษิตหลายบทที่สรรเสริญการมีมิตรที่ดี เช่นกล่าวว่า

การมีญาติมิตรมาก เปรียบเสมือนต้นไม้ในป่าที่มีจำนวนมาก ต่างกับต้นไม้ที่อยู่โดดเดี่ยว แม้จะมีขนาดใหญ่โตสักเท่าไหร่ เมื่อมีพายุมา ก็อาจโค่นได้

อย่างไรก็ตาม การมีมิตรที่ดีมากมาย ก็ยังไม่สู้กับการมีกัลยาณมิตรเพียงคนเดียว

กัลยาณมิตรคือผู้ที่มีใจเป็นเพื่อนที่มุ่งดี ปรารถนาดี ให้ความช่วยเหลือ ว่ากล่าวตักเตือน แนะนำไม่ปล่อยให้คิดผิดพูดผิด ไม่ปล่อยให้มีภัยมีความเสื่อมเสียเกิดขึ้นหากป้องกันได้

กัลยาณมิตรหาได้ไม่ง่าย ไม่ใช่เพื่อนทุกคนจะเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน ผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้นต้องมีคุณสมบัติหลักที่สำคัญที่สุดคือ ความดี มีคุณธรรมประจำใจ พร้อมด้วยสติ และ ปัญญา

ครูบาอาจารย์ที่มีแต่ความหวังดีแก่ศิษย์ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์ กัลยาณมิตรมีคุณธรรม 7 ประการ คือ

  1. ปิโย คือ ความน่ารัก เป็นที่สบายใจ และ สนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา
  2. ครุ คือ น่าเคารพ ประพฤติสมควรแก่ฐานะ สร้างความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และ ปลอดภัย
  3. ภาวนีโย คือ น่ายกย่อง ในฐานะที่มีความรู้ และ ภูมิปัญญาแท้จริง เป็นผู้ฝึกอบรม และ ปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึก และ เอ่ยอ้างด้วยความซาบซึ้งภูมิใจ
  4. วัตตาจะ คือ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
  5. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์ อดทนฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
  6. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา คือ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้โดยง่าย และ ให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
  7. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย คือไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือ ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย

รองศาสตราจารย์ประมวล เพ็งจันทร์       

ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังรองศาสตราจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ยอดกัลยาณมิตรผู้เดินเท้า 1000 กิโลเมตรเพื่อข้ามพ้นความเสียดาย ความเกลียด ความกลัว และกิเลสนานา

อาจารย์ได้เล่าว่า มีความใฝ่ฝันเป็นครูเพื่อถ่ายทอดความรู้ และ สั่งสอนศิษย์ตั้งแต่เรียนชั้นประถมที่สี่ โดยมีแรงบันดาลใจจาก คุณครูพิกุล มณีโชติ คุณครูสาวสวยที่เพิ่งจบใหม่ เรื่องที่อาจารย์เล่าเป็นแรงบันดาลใจต่อมาให้ผู้เขียนเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อผู้อื่นต่อไป เรื่องมีอยู่ว่า

เมื่ออาจารย์ประมวลยังเป็นเด็กนักเรียน ในตอนเช้าของทุกวันจะมีคุณครูเวรคอยตรวจแถวเพื่อดูว่าเด็ก ๆ มีเล็บมือสะอาด หรือ แต่งตัวเรียบร้อยหรือไม่

หากครูพบเด็กคนไหนไม่เรียบร้อยก็จะมีการลงโทษ เช่น ดึงหูบ้าง ดึงจมูกบ้าง เอาไม้บรรทัดตีมือบ้าง

ต่อมามีคุณครูพิกุลเพิ่งบรรจุใหม่ เด็ก ๆ รวมทั้งเด็กชายประมวลจะเห่อครูคนใหม่มากเพราะแต่งตัวสวย

วันหนึ่งเป็นเวรของครูพิกุลที่จะตรวจแถวตอนเช้า ครูเดินผ่านเพื่อน ๆ มาทีละคน ๆ แล้วก็มาหยุดที่หน้าอาจารย์ อาจารย์เล่าว่าตอนนั้นรู้สึกเย็บวาบ นึกว่าจะต้องโดนลงโทษ พยายามมองไปที่เล็บตัวเองก็ไม่เห็นยาว

ขณะนั้น ครูพิกุลก็นั่งลงจนหน้าของครูอยู่ใกล้กับหน้าของอาจารย์ และ ดึงเข็มขัดที่ห้อยอยู่สอดเข้าไปในหูเข็มขัด แล้วเงยหน้าขึ้นมายิ้มให้ เอ่ยว่า

“ต่อไปนี้ รัดเข็มขัดแล้วให้ทำอย่างนี้ทุกครั้งนะ”

ครูรัดเข็มขัดแล้วก็ลุกขึ้นไป

ผ่านมาหลายสิบปี อาจารย์ยังจำคำสอน และ ความงดงามของความรู้สึกดี ๆ อย่างตราตรึงไม่มีวันลืม และอยากจะเป็นครูแบบนี้บ้าง  

ถึงแม้คุณครูพิกุลสอนเรื่องระเบียบพื้นฐาน ไม่ได้สอนเรื่องที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น แต่คุณครูพิกุลก็มีความน่ารัก อ่อนโยน ถึงกับย่อตัวลงมาต่ำว่าเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่ง

ครูสอนให้เข้าใจ อดทนต่อความผิดของศิษย์ และ สร้างความอบอุ่น และ ความไว้ใจ ความประทับใจ เป็นแบบอย่างอันดีต่ออาจารย์ประมวลซึ่งตัวท่านเองก็มีลูกศิษย์ลูกหาที่รักใคร่เป็นจำนวนมาก

        ผู้ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผล จำเป็นที่จะต้องมีกัลยาณมิตรให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ชักจูงให้มีศรัทธา มีวิริยะ การมีกัลยาณมิตรมีประโยชน์ยิ่ง ถึงกับพระพุทธเจ้าได้ยกย่องไว้ว่า:

เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่    ย่อมมีแสงอรุณขึ้นก่อนเป็นบุรพนิมิตฉันใด

การมีกัลยาณมิตร เป็นบุรพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของหนทางพระนิพพานแก่ผู้ประพฤติธรรมฉันนั้น

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
ส่ง อี เมล์ ถึง ดร.อภิวรรณ

อ่านตอนอื่น

อเชิญแสดงความคิดเห็นได้ ที่นี่