|
|
|
|
นิทานธรรมกับ ดร.เอ๋ย ตอน 1
มองหาเศษสตางค์
.... ว่าด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีสาระ
|
เด็กผู้ชายคนหนึ่ง...
...ขณะเดินกลับบ้านจากโรงเรียน เขาเห็นเหรียญห้าสิบสตางค์ตกอยู่บนทางเท้า เขาเก็บมันขึ้นมาด้วยความดีใจที่ได้พบโชคโดยบังเอิญ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาจะเดินก้มหน้ามองหาเศษสตางค์ทุกๆวัน
ตลอดชีวิตของเขา เขาพบเหรียญสลึง 296 อัน เหรียญห้าสิบสตางค์ 48 อัน เหรียญบาท 19 อัน แบ็งค์สิบ 12 ใบ แบ็งค์ยี่สิบ 6 ใบ และแบ็งค์ร้อย 2 ใบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 557 บาท เขาได้มันมาฟรี ๆ
แต่เขาพลาดที่จะได้เห็นความงดงามของท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ทอแสงไป 31,369 ครั้ง
เขาพลาดที่จะได้เห็นสายรุ้งสีสวยที่ทอดตัวข้ามท้องฟ้าหลังฝน 157 ครั้ง
เขาพลาดเห็นปุยเมฆสีขาวบนฟ้าสีครามที่เปลี่ยนรูปไปอย่างน่าพิศวง
เขาพลาดเห็นใบไม้ที่เพิ่งคลี่ใบสีเขียวอ่อนที่แสนสดชื่น และพลาดเห็นรอยยิ้มของผู้คนหลายพันคนที่เดินผ่านเขาไป
คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ใช้ชีวิตเช่นชายผู้นี้ คุณก้มหัวแบกภาระของงานด้วยความกลัวความล้มเหลวและคำตำหนิซึ่งอาจไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพียงเพื่อจะได้เศษสตางค์เหล่านั้น จนพลาดเห็นสิ่งสวยงามในชีวิตหรือเปล่า คุณอาจจะโต้แย้งว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นตัวบังคับให้คุณต้องทำงานชนิดหามรุ่งหามค่ำ แต่คุณถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ
หลายปีมาแล้ว เมื่อผู้เขียนได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารองค์กรเป็นครั้งแรก รองประธานบริษัทได้เรียกไปแนะนำเรื่องบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ คำสอนที่ผู้เขียนไม่มีวันลืม ท่านสอนให้ผู้เขียนแบ่งเวลาเป็นสามส่วน
ส่วนหนึ่งให้กับงาน
ส่วนหนึ่งให้กับตัวเอง
และส่วนหนึ่งให้กับครอบครัว
ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนให้ความเคารพนับถือต่อเจ้านายคนนี้ด้วยความภักดีอย่างจริงใจ คำแนะนำง่ายๆนั้นแสดงธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ที่ไม่เห็นแก่เงิน แต่เห็นคุณค่าของคนที่ยิ่งใหญ่กว่า
แล้วคุณเล่าให้เวลากับตัวเองและกับครอบครัวเพียงพอหรือไม่?
หรือว่าชีวิตทั้งชีวิตของคุณคือการหาเงิน จนลืมไปว่าคุณมีบทบาทอื่น ๆในชีวิต เช่นเป็นลูกของพ่อแม่ เป็นพ่อหรือแม่ของลูก
ลูกที่ไม่สามารถเติบโตอย่างสมบูรณ์ได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากลูกขาดพื้นฐานของความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ ถูกปล่อยไปตามยถากรรม เงินทองทั้งหมดก็ไม่สามารถสร้างความสุข และความสำเร็จของลูกในอนาคตได้
ซ้ำร้ายลูกมีโอกาสที่จะเสียคนได้มาก เพราะมีเวลาออกนอกลู่นอกทางโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว ลูกอาจติดยา ติดโรคร้าย หรือแม้แต่ก่ออาชญากรรมหรือสร้างความเดือดร้อนให้สังคม
ในทางตรงกันข้าม ลูกที่ได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น มีพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีให้ดู แบ่งเวลาให้การอบรมสั่งสอนลูก แม้ไม่ต้องมีพ่อเป็นประธานบริษัท แม้ไม่ต้องเข้าโรงเรียนชั้นนำของลูกเศรษฐี แต่เขาจะมีโอกาสใกล้ชิดกับความถูกต้องมากกว่า ลูกย่อมคลุกคลีคุ้นเคยกับความคิด คำพูด การกระทำที่ดีของพ่อแม่อยู่เป็นปกตินิสัย และหลอมละลายกลายเป็นความเก่ง และความดีที่จะทำให้เขาแต่เขาจะมีเจตคติทีดีต่อตัวเอง และต่อโลกรอบตัว ซึ่งสามารถส่งผลให้เขายืนหยัดในโลกนี้ด้วยตัวเองอย่างมีความสุขและความสำเร็จกับชีวิตได้มากกว่า
เราอาจจะใช้เงินเป็นตัววัดความสำเร็จและคุณค่าของตัวเอง แต่เงินและสิ่งที่มากับเงินเป็นของที่มาแล้วก็ไป พระพุทธเจ้าเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “โลกธรรม” คือสิ่งที่มีอยู่ประจำกับชีวิต ที่ทุกคนประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
โลกธรรมแบ่งออกเป็น 8 ชนิด คือ ได้ลาภ – เสื่อมลาภ ได้ยศ – เสื่อมยศ ได้รับสรรเสริญ – ถูกนินทา ได้สุข – ตกทุกข์ โลกธรรมทั้งแปดอย่างนี้
ผู้ใดยึดเอาไว้เป็นของตนก็จะเกิดความทุกข์อย่างแน่นอน เมื่อประสบกับโลกธรรมฝ่ายดีเราก็มักจะร่าเริง หลงใหล พร้อมทั้งเกิดความวิตกกังวลว่าจะสูญเสียมันไป เช่นกลัวว่าจะเสียตำแหน่ง เสียลาภ และเมื่อมันแปรเปลี่ยนไป เราก็จะเกิดความผิดหวังเสียดาย ในทางตรงกันข้าม
ถ้ายึดเอาโลกธรรมฝ่ายไม่ดีเอาไว้ เช่นหวั่นไหวกับเสียงตำหนิ กลัวว่าผู้คนจะไม่แสดงความเคารพนับถือ เราก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจ
นักบริหารธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ มักครองชีวิตอยู่ในยศ ในตำแหน่ง ลาภ สรรเสริญ แต่เงินทองนี้ ทำให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมา ให้เกิดความลุ่มหลง เป็นเครื่องเพิ่มพูนความกำหนัดยินดี มีความระแวง มีความยุ่งยาก และในเงินทองนั้นไม่มีความยั่งยืนมั่นคงเลย
ส่วนตำแหน่งนั้นก็เป็นสิ่งเสพย์ติดชนิดหนึ่ง เมื่อได้ตำแหน่ง ใจก็พองฟู เข้าใจผิดว่าตนวิเศษเพราะมีตำแหน่ง หวงงาน หวงตำแหน่ง ระแวงว่าผู้อื่นจะมาเอาตำแหน่งไป หรือตนจะต้องถูกย้ายตำแหน่ง เมื่อเสพติดตำแหน่งแล้ว ยามไม่มีตำแหน่งจะรู้สึกเคว้งคว้าง และปัจจุบัน มนุษย์มากมายก็เป็นทุกข์เพราะทรัพย์สมบัติเงินทองซึ่งเป็นค่าสมมติที่มนุษย์สมมติขึ้น ทั้งนี้เพราะเต็มไปด้วยความโลภนั่นเอง
เราทุกคนมีทางเลือกในการปล่อยวางความคิดว่าเรายังขาดแคลน เมื่อเราปล่อยวางแล้ว เราจะแปลกใจที่พบว่าแท้จริงแล้วเรามีพอเพียง ความพอเพียงไม่ใช่เป็นเพียงจำนวนเงินในธนาคาร มันเป็นบริบทที่เราสร้างขึ้นจากความรู้ว่าเราไม่ได้ต้องการมากไปจากที่เรามี ปัจจัยพื้นฐานการเลี้ยงชีวิตคือปัจจัย 4
เราต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรเป็นความอยากได้ และอะไรเป็นความจำเป็น น้ำหอมแพงๆไม่ใช่ของจำเป็น แต่เป็นของฟุ่มเฟือย เหล้า ไวน์เป็นอบายมุข เป็นของทำลายสุขภาพ เป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของสังคม
ถ้าเรามองของฟุ่มเฟือยเป็นของจำเป็นเมื่อไหร่ งบประมาณในบ้านจะขาดแคลนทันที
ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อราชองครักษ์ท่านหนึ่งถึงแนวทางการดำเนินชีวิตว่า " ชีวิตมนุษย์เรานี่ อิ่มเดียว หลับเดียวเท่านั้น"
..หมายความว่า มนุษย์เรานั้นจะกินได้มากเท่าใด ก็ไม่เกินอิ่มของตน พออิ่มแล้วก็เท่านั้นแหละ ไม่ว่าจะกินข้าวคลุกน้ำปลา หรือบริโภคอาหารจีนรสเลิศชามละเป็นพันเป็นหมื่น
การนอนก็เช่นกัน จะนอนบนที่นอนยัดนุ่นรองด้วยสปริง อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ หรือนอนในสลัม ก็แค่นอนหลับอิ่มเดียวเท่านั้น เต็มอิ่มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมา
แต่มนุษย์เราทุกวันนี้วุ่นวายอยู่เพราะไม่รู้จักอิ่ม ยังต้องดิ้นรนแสวงหาเพิ่มขึ้น
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อบ้านได้ แต่คุณซื้อความอบอุ่นในบ้านไม่ได้
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อนาฬิกาเรือนหรูได้ แต่คุณซื้อเวลาไม่ได้
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อเตียงนอนได้ แต่คุณซื้อการนอนหลับไม่ได้
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อหนังสือได้ แต่คุณซื้อความรู้ไม่ได้
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อเวลาของแพทย์ได้ แต่คุณซื้อสุขภาพที่ดีไม่ได้
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อตำแหน่งงานได้ แต่คุณซื้อความนับถือไม่ได้
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อเลือดได้ แต่คุณซื้อชีวิตไม่ได้
ด้วยเงินที่คุณมี คุณอาจซื้อความสนุกทางเพศได้ แต่คุณซื้อความรักไม่ได้
ความสุขในชีวิตแท้จริงแล้วสามารถสร้างได้เดี๋ยวนี้และที่นี่ คุณไม่ต้องรอจนมีเงินร้อยล้านจึงจะมีความสุข คุณไม่ต้องรอจนลูกเรียนจบมีงานทำจึงจะมีความสุข คุณไม่ต้องรอจนคุณผ่อนรถผ่อนบ้านหมดจึงจะมีความสุข คุณไม่ต้องรอจนมีเงินซื้อแหวนเพชรเอาไปหมั้นคนที่คุณรักก่อนจึงจะมีความสุข เพราะชีวิตนี้มันสั้นนัก คุณอาจไม่มีเวลาไปถึงวันนั้นก็เป็นไปได้
มีหลายคนนักที่รู้ความจริงเรื่องนี้ก็ต่อเมื่อสายเกินไป บางคนรู้เมื่อใกล้สิ้นชีวิต ดังคำสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร หรือ ดร. วรฑา วัฒนะ-ชยังกูร พิธีกรคุณภาพชื่อดังผู้จากไปด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุเพียง 49 ปี ซึ่งคงเหลือไว้เป็นบทเรียนของพวกเราทุกคน
อาจารย์ 'เต้ย' กล่าวถึงการเจ็บป่วยของตัวเองว่า
“การเจ็บป่วยของผม-ผมอยากจะบอกว่ามันสะสมมาจาก 'ความเกินไป' ของผม อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า ผมเป็นคนที่ทำอะไร "มากเกินไป" เสมอ ทำอะไรก็จะเกินไว้ก่อน เมื่อเริ่มต้นทำงานผมก็สนุกสนานกับงานและรู้สึกว่างานมีเพิ่มมากขึ้นยิ่งรู้สึกดี แทนที่จะรู้สึกว่ามันมากไปจนเหนื่อย ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการพักผ่อนนอนหลับ การพักผ่อนของผมจึงเป็นการได้ทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิม ตั้งแต่เป็นมะเร็งผมเริ่มคิดได้ว่า ชีวิตนี้สอนคนมามากในฐานะครูบาอาจารย์ แต่คนที่ผมไม่เคยสอน ไม่เคยเตือน คือตัวเอง จึงไม่เคยตั้งใจจะให้ชีวิตผมเป็นแบบอย่างแก่ใคร”
แล้วคุณล่ะ...จะรอจนถึงวันนั้นหรือเปล่า
______________________________________________________________
โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)
อ่านตอนอื่น
แสดงความคิดเห็นที่นี่
|